Custom Search

วันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้ ( Learning Disabilities : LD )

     ความบกพร่องด้านการเรียนรู้ (Learning disabilities, LD) เป็นความบกพร่องในกระบวนการเรียนรู้ที่แสดงออกมาในรูปของปัญหาการอ่าน การเขียน การสะกดคำ การคำนวณและเหตุผลเชิงคณิตศาสตร์ เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น โดยพิจารณาจากผลการเรียนเปรียบเทียบกับระดับเชาวน์ปัญญาเด็ก LD น่าจะมีสาเหตุจากสมองทำงานผิดปกติ โดยมีรายงานการวิจัยสนับสนุนดังนี้
          1. พยาธิสภาพของสมอง การศึกษาเด็กที่มีบาดแผลทางสมอง เช่น คลอดก่อนกำหนด ตัวเหลืองหลังคลอด แต่มีสติปัญญาปกติ พบว่ามีปัญหาการอ่านร่วมด้วย
          2. ความผิดปกติของสมองซีกซ้าย โดยปกติสมองซีกซ้ายจะควบคุมการแสดงออกทางด้านภาษา และสมองซีกซ้ายจะมีขนาดโตกว่าซีกขวา แต่เด็กLD สมองซีกซ้ายและซีกขวาเท่ากัน และมีความผิดปกติอื่นๆ ที่สมองซีกซ้ายด้วย
          3. ความผิดปกติของคลื่นสมอง เด็ก LD จะมีคลื่นอัลฟาที่สมองซีกซ้ายมากกว่าเด็กปกติ
          4. กรรมพันธุ์ เด็กที่มีปัญหาการอ่าน บางรายมีความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 15 และสมาชิกของครอบครัวเคยเป็น LD โดยที่พ่อแม่มักเล่าว่า เมื่อตอนเด็กๆ ตนเคยมีลักษณะคล้ายๆกัน
          5. พัฒนาการล่าช้า เดิมเชื่อว่าเด็ก LD มีผลจากพัฒนาการล่าช้า แต่ปัจจุบันไม่เชื่อเช่นนั้น เพราะเมื่อโตขึ้นเด็กไม่ได้หายจากโรคนี้
ประเภทของปัญหาการเรียนรู้ 
     - ความบกพร่องด้านการพูด การฟัง
          เด็กไม่สามารถถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นคำพูดที่เหมาะสม เด็กอาจจะพูดได้ช้าหรือใช้คำพูดไม่เป็น หรืออาจจะออกเสียงคำต่างๆ ได้ไม่ถูกต้อง เด็กต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการทำความเข้าใจกับคำพูดที่ได้ยิน ซึ่งทำให้คนอื่นคิดว่าเด็กไม่สนใจฟัง เด็กที่มีปัญหาด้านนี้อาจขอให้คนอื่นพูดประโยคเดิมซ้ำอีก จนบางครั้งทำให้คนอื่นรู้สึกหงุดหงิด รำคาญ หรือหัวเราะเยาะ
     - ความบกพร่องด้านการเขียนและสะกดคำ
          ในการเขียนพยัญชนะ เด็กจะลากเส้นวนๆ ไม่รู้ว่าจะม้วนหัวเข้าหรือออก เรียงลำดับอักษรผิด เช่น สถิติ เป็นสติถิเขียนพยัญชนะหรือตัวเลขสลับกัน ม-น, ภ-ถ, ด-ค, b-d, p-q, 6-9 เขียนพยัญชนะกลับกัน คล้ายมองจากกระจกเงา สะกดคำผิด เป็นต้น เขียนหนังสือ ลอกโจทย์จากกระดานช้า เพราะกลัวสะกดผิด เขียนไม่ตรงบรรทัด เขียนต่ำหรือเหนือเส้น ขนาดตัวอักษรไม่เท่ากัน ไม่เว้นขอบ ไม่เว้นช่องไฟ จับดินสอหรือจับปากกาแน่นมาก ลบบ่อยๆ เขียนทับคำเดิมหลายครั้ง เขียนหนังสือตัวโต
     - ความบกพร่องด้านการอ่าน
          เด็กจะมีความยากลำบากในการอ่าน เช่น อ่านคำต่อคำ จะต้องสะกดคำจึงจะอ่านได้ อ่านออกเสียงไม่ชัดเจน ไม่ระมัดระวังในการอ่าน อ่านเพิ่มเติม อ่านผิดประโยค หรือผิดตำแหน่ง อ่านโดยไม่เน้นคำ หรือเน้นข้อความบางตอน จำคำศัพท์ได้จำกัด พยายามอธิบายความหมายของคำที่อ่านไม่ได้ ผันเสียงวรรณยุกต์ไม่ได้ จับใจความสำคัญ หรือเรียงลำดับเหตุการณ์ของเรื่องที่อ่านไม่ได้ ไม่รู้จักเดาคำจากคำหรือประโยคที่อยู่หน้าหรือหลังคำ หรือย่อหน้านั้นๆ
     - ความบกพร่องด้านการคำนวณและเหตุผลเชิงคณิตศาสตร์
          เด็กไม่เข้าใจค่าของตัวเลข (Concept of number) ได้แก่ หลักหน่วย สิบ ร้อย พัน หมื่น... นับเลขไปข้างหน้าหรือนับเลขย้อนหลังไม่ได้ คำนวณบวก ลบ คูณ หาร ด้วยการนับนิ้ว จำสูตรคูณไม่ได้ เขียนเลขกลับกัน เช่น 13 เป็น 31 ยุ่งยากกับการตีโจทย์ปัญหา หรือการอ่านตัวเลขหลายตัว บางคนอาจใช้วิธีท่องจำและเขียนคำตอบได้ แต่เมื่อให้แก้ไขโจทย์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันกลับทำไม่ได้ เช่น ไม่สามารถแลก/ทอนสตางค์ได้ ไม่เข้าใจเรื่องเวลา สอนเรื่องเวลาได้ยาก
     - ปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ที่อาจพบร่วมด้วย
          เด็กที่มีปัญหาการอ่าน การเขียน การสะกดคำและการคำนวณ มักรู้สึกหงุดหงิดและรู้สึกด้อยที่ตนเองทำไม่ได้ทัดเทียมเพื่อนๆ ดังนั้นเด็กอาจแสดงพฤติกรรมในรูปแบบต่างๆ ดังนี้ หลีกเลี่ยงการอ่าน การเขียน ทำสมุดการบ้านหายบ่อยๆ บางคนอาจต่อต้านแบบดื้อเงียบ ไม่ทำตามที่ครูสั่ง หรือปฏิเสธโดยตรง ทำให้ดูเป็นเด็กเกียจคร้าน ไม่มีสมาธิในการเรียน ทำงานช้า ทำงานไม่เสร็จในชั้นเรียน ทำงานสะเพร่า ความจำไม่ดี เรียนได้หน้าลืมหลัง ออดอ้อนแบบเด็กๆ โดยเฉพาะกรณีที่มีน้องเล็ก กลัวครูดุ กลัวเพื่อนล้อว่า "อ่านหนังสือช้า" กล่าวโทษว่าครูสอนไม่ดี เพื่อนแกล้ง รู้สึกเบื่อหน่ายท้อแท้ รู้สึกว่าตนเอง "ไม่เก่ง" "รู้สึกด้อย" และไม่มั่นใจในตนเอง มักตอบคำถามว่า " ทำไม่ได้" "ไม่รู้" "ไม่ทราบ" ทำตัวเป็นตัวตลกในห้องเรียน เพื่อกลบเกลื่อนอารมณ์ขึ้นๆลงๆหงุดหงิดง่าย ไม่อดทน ก้าวร้าวกับเพื่อนพี่น้องครู หรือพ่อแม่

การช่วยเหลือเด็ก LD
     การช่วยเหลือที่สำคัญทีสุดคือ การจัดการศึกษาพิเศษในรูปแบบที่เหมาะสมกับเด็กในแต่ละราย ปัจจุบันประเทศไทยยังมีครูการศึกษาพิเศษไม่เพียงพอกับความต้องการของเด็ก ดังนั้นการช่วยเหลือเด็ก LD จะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างครูการศึกษาพิเศษ ครูประจำชั้น นักจิตวิทยา แพทย์ และผู้ปกครอง

การจัดการเรียนการสอน
     การจัดการเรียนการสอนจำเป็นต้องทำแผนการเรียนการสอนเฉพาะบุคคลที่เรียกว่า Individual Educational Planning (IEP) โดยจัดทำเป็นเทอมหรือเป็นปี มีการกำหนดวัตถุประสงค์ของการเรียนอย่างเป็นขั้นตอนและกำหนดวิธีที่จะไปถึงเป้าหมายนั้น และควรเขียนในรูปแบบที่เข้าใจง่ายและนำไปปฏิบัติได้

     โหลดเอกสารเพิ่มเติม : http://www.ziddu.com/download/13185634/LD.pdf.html