Custom Search

วันอังคารที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ( Children with intellectual disabilities )

KIM JAE WON กับ YOON DAE WON เด็กชายอายุ 3 ปี เป็นเด็กพิการทางด้านสติปัญญา
ซึ่งสมองบางส่วนถูกทำลายตั้งแต่เกิด ทำให้มีปัญหาในเรื่องการทรงตัว

     บุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา หมายถึง บุคคลที่มีพัฒนาการช้ากว่าบุคคลทั่วไปเมื่อวัดเชาว์ปัญญา โดยใช้แบบทดสอบมาตรฐานแล้ว มีเชาว์ปัญญาต่ำกว่าคนทั่วไป และ ความสามารถในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่ำกว่าเกณฑ์ทั่วไปอย่างน้อย 2 ทักษะหรือ มากกว่า จึงทำให้ไม่สามารถปรับตัวได้เหมือนกับเด็กปกติ และ มีพัฒนากรที่ไม่เหมาะสมกับวัย ทั้งนี้ลักษณะความบกพร่องดังกล่าวต้องเกิดก่อนอายุ 18 ปี

สาเหตุของการบกพร่องทางสติปัญญา
     สาเหตุของความบกพร่องทางสติปัญญาในเด็ก เนื่องจากเป็นผลกระทบกระเทือนจากสมองภายใน ซึ่ง หมายความว่าเป็นผลสืบเนื่องจากเหตุต่าง ๆ โดยการแบ่งการพิจารณาจากการเจริญเติบโตในระยะต่าง ๆ ของทารก คือ ตั้งแต่ระยะก่อนคลอด ระยะหลังคลอดเป็นระยะที่เด็กยังอยู่ในวัยปฐมวัย แล้วมีเหตุใดเหตุหนึ่งมากระทบกระเทือนสมอง ทำให้เกิดความบกพร่องทางสมองขึ้น แบ่งออกเป็น 3 สาเหตุ คือ
          1. สาเหตุทางกรรมพันธุ์ โดย ความผิดปกติของพันธุกรรมทำให้เกิดภาวะปัญญาอ่อนร่วมกับความผิดปกติทางร่างกาย
          2. สาเหตุจากชีวภาพ ได้แก่ สาเหตุที่ทำให้สมองหยุดชะงักการเจริญเติบโต ตั้งแต่
               2.1 ระยะก่อนคลอด
               2.2 ขณะคลอด
               2.3 หลังคลอด
          3. สาเหตุจากสิ่งแวดล้อม
               3.1 ครอบครัว
               3.2 พ่อ แม่ ขาดการศึกษาและขาดความรู้ในเรื่องการเลี้ยงดูเด็ก

               3.3 ครอบครัวอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่จำกัด ขาดสิ่งเร้า สิ่งกระตุ้น ทำให้ขาดประสบการณ์ในการเรียนรู้ในการเรียนรู้

เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาในแต่ละระดับมีความแตกต่างตามช่วงอายุ ดังนี้
     ระดับปัญญาอ่อน ปฐมวัย (0- 5 ขวบ), วัยเรียน (6 –12 ปี), วัยผู้ใหญ่ (21 ปี ขึ้นไป) วุฒิภาวะและพัฒนาการ การศึกษา สังคมและอาชีพ
           1. ขั้นเล็กน้อย ( mild ) IQ ประมาณ 50 - 70 สามารถพัฒนาทักษะในการสื่อความหมายและทักษะทางสังคมได้ ยังไม่สามารถสังเกตความแตกต่างจากเด็กปกติได้มากนักจนกว่าเด็กจะโตขึ้น สามารถเรียนหนังสือได้สูงสุดประมาณชั้น ป. 6 เมื่อเด็กมีอายุในวัยรุ่นไม่สามารถเรียนวิชาสามัญได้เท่าเทียมกับเด็กปกติ ควรได้รับการศึกษาที่จัดเฉพาะเด็กประเภทนี้ สามารถประกอบอาชีพและอยู่ในสังคมได้ หากได้รักการศึกษาและการฝึกอาชีพอย่างเพียงพอ ต้องการดูแลและเอาใจใส่จากผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเมื่อมีปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจ
          2. ขั้นปานกลาง ( moderate ) IQ ประมาณ 35 - 49 สามารถพูดได้พอสื่อสารกับผู้อื่นได้มีพัฒนาการช้า พอช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องการการควบคุมดูแลจากผู้ใกล้ชิด สามารถเรียนหนังสือได้สูงสุดประมาณชั้น ป. 4 เมื่ออายุถึงวัยรุ่นหากได้รับการศึกษาที่เหมาะสม สามารถทำงานประเภทที่ไม่ต้องใช้ทักษะมากนัก ต้องการดูแลเอาใจใส่จากผู้ใกล้ชิด
          3. ขั้นรุนแรง ( severe ) IQ ประมาณ 20 - 34 มีปัญหาในการเคลื่อนไหว พูดไม่ค่อยได้หรือพูดไม่ได้เลย ช่วยตัวเองไม่ได้ เรียนหนังสือไม่ได้ สอนพูดได้บ้าง ฝึกเกี่ยวกับสุขภาพ อนามัยได้บ้าง ต้องการการดูแลเอาใจใส่จากผู้ใกล้ชิด ช่วยตัวเองได้บ้างแต่น้อย
          4. ขั้นรุนแรงมาก ( profound ) IQ ต่ำกว่า 20 ช่วยตัวเองไม่ได้ มีความสามารถน้อยที่สุด ต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ ฝึกให้ช่วยตัวเองได้บ้าง แต่ไม่ค่อยได้ผลมากนัก ช่วยตัวเองไม่ได้ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด

     จากระดับ IQ จะเห็นได้ว่าระดับสติปัญญาที่ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ คือ ตั้งแต่ I.Q. 90 ลงมา ถือว่าเป็นระดับที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
           1. เด็กเรียนช้า หมายถึง เด็กที่มีความสามารถในการเรียนล่าช้ากว่าปกติ และมีความต้องการในด้านการเรียนในรูปแบบของ ชั้นพิเศษเต็มเวลา หรือ บางเวลาในโรงเรียนปกติเด็กเหล่านี้จะมีระดับเชาว์ปัญญา ( I.Q ) 71 - 90 ซึ่งขาดทักษะในการเรียนรู้หรือมีความบกพร่องทางสติปัญญาเล็กน้อย
          2. เด็กปัญญาอ่อน หมายถึง เด็กที่มีเชาว์ปัญญาต่ำกว่า 70 มีความสามารถในการเรียนรู้น้อย มีพัฒนาการทางกายล่าช้าไม่เหมาะสมกับวัย มีความสามารถจำกัดในการปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ทำให้มีความยากลำบากต่อการดำรงชีวิต แบ่งตามระดับ เชาว์ปัญญา ( I.Q ) ได้ 4 พวก คือ
               2.1 ปัญญาอ่อนขนาดน้อยพอเรียนได้ (Educable mentally retarded) มีระดับเชาวน์ปัญญา 50–70 มักใช้คำย่อๆ ว่า E.M.R. เด็กพวกนี้พอจะเรียนได้ในชั้นพิเศษใช้หลักสูตรตามหลักการศึกษาพิเศษสามารถฝึกอาชีพ และสอนอย่างง่ายๆ ได้
               2.2 ปัญญาอ่อนขนาดปานกลางหรือขนาดพอฝึกได้ (Trainable mentally retarded) หรือขนาดพอฝึกได้ มักใช้คำย่อว่า T.M.R. มีระดับเชาวน์ปัญญา 35–49 พอจะฝึกอบรมและเรียนรู้ทักษะเบื้องต้นง่าย ๆ ได้ และสามารถฝึกอาชีพหรือทำงานง่าย ๆ ที่ไม่ต้องใช้ความละเอียดลออได้ พวกนี้ต้องการเรียนและฝึกอบรมในโปรแกรมการศึกษาชั้นพิเศษ หรือโรงเรียนพิเศษ
               2.3 ปัญญาอ่อนขนาดหนัก (Severely mentally retarded) มีระดับเชาวน์ปัญญา 20 – 34 ไม่สามารถเรียนได้ ต้องฝึกหัดการช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจำวันเบื้องต้นง่าย ๆ
               2.4 ปัญญาอ่อนขนาดหนักมาก (Profoundly mentally retarded) มีระดับเชาวน์ปัญญาต่ำกว่า 20 เป็นพวกที่ไม่สามารถเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ได้เลย ต้องการเฉพาะการดูแลรักษาพยาบาลเท่านั้น

วันพุธที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เขย่าลูก...อันตรายที่คาดไม่ถึง


     ... มีข่าวเด็กหญิงวัย 5 เดือน ถูกสองตายายทารุณกรรมโดยการเขย่าจนเลือดคั่งในสมองและอาจถึงขั้นตาบอด จากรายงานสองตายายชอบดื่มเหล้าจนเมาและจับหลานเขย่าแรงๆ เป็นประจำ จนเด็กมีอาการแสดงออกมาจึงพาไปพบแพทย์ อาการของเด็กที่ปรากฏนั้นแพทย์ลงความเห็นว่าเด็กเป็นโรค Shaken Baby Syndrome

     โรคนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร พ่อแม่หลายคนคงสงสัยว่าเพียงแค่เขย่าทำให้เด็กตาบอดเชียวหรือ รศ.พ.ญ.คุณหญิงส่าหรี จิตตินันท์ กรรมการอำนวยการมูลนิธิสงเคราะห์เด็ก สภากาชาดไทย และรองประธานมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก อธิบายถึงสาเหตุของโรคว่า Shaken Baby Syndrome หรือการเขย่าเด็กแรงๆ แล้วหยุดทันทีเป็นโรคที่มีมานานแล้ว แต่ไม่ค่อยมีคนรู้ จะเกิดขึ้นกับเด็กที่อยู่ในช่วงอายุ 1 ปีแรก โดยเฉพาะเด็กในช่วง 6 เดือนแรกมีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์นี้ได้ เพราะเป็นโรคที่เกิดจากการที่เด็กถูกเขย่าแรงๆ โดยไม่คำนึงว่าสมองของเด็กวัยนี้เปราะบางมาก และมีน้ำในสมองมากกว่าเนื้อสมอง

     เมื่อลูกร้องไห้ก็เขย่าลูกเพื่อให้ลูกหยุดร้อง แต่เมื่อลูกยังไม่หยุดร้องสักทีก็เขย่าแรงขึ้นๆ ถ้าพ่อแม่ยับยั้งอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ก็จะยิ่งเขย่าแรงขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ยังมีการกระทำกับเด็กที่รุนแรงจนเด็กได้รับอันตราย เช่น เตะ ไกวเปลแรงๆ โยนเด็กเล่น ซึ่งพ่อแม่เห็นเด็กชอบ หัวเราะ ชอบใจ แต่การกระทำเหล่านี้เสี่ยงมากที่จะเป็นอันตรายต่อเด็ก เพราะเพียงเขย่าเด็กไม่กี่วินาทีก็อาจทำให้เด็กพิการได้


     ส่วนใหญ่แล้วโรคนี้จะไม่แสดงอาการบาดเจ็บออกมาตามร่างกาย แต่จะเป็นความบอบช้ำภายในสมองมากกว่า ซึ่งส่งผลกระทบกับส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ตามข่าวนั้นเด็กมีอาการซึม เกร็ง และกระตุก นอกจากนั้นยังมีอาการเยื่อบุตาอักเสบ การแสดงอาการเหล่านี้เป็นเพราะความดันในสมองเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีเลือดออกมาจากหลอดเลือด ทำให้ไปกดสมองและเนื้อเยื่อในสมอง แต่ละอาการที่แสดงออกมานั้นขึ้นอยู่ว่าเลือดซึมเข้าไปในสมองส่วนไหน

      นอกจากอาการเหล่านี้แล้วยังมีอาการอื่นๆ ที่เป็นสัญญาณเสี่ยงที่เด็กจะอยู่ในภาวะ SBS (Shaken Baby Syndrome) คือ เด็กมีอาการอาเจียน หมดสติ หยุดหายใจเป็นพักๆ หรือชัก มีเลือดออกที่ตา บางรายที่มีอาการไม่รุนแรงนักอาจจะมาพบแพทย์ด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น ร้องไห้ไม่หยุด เซื่องซึม ไม่ยอมดื่มนม ซึ่งแพทย์อาจวินิจฉัยไม่ได้ และบอกว่าเด็กเป็นไข้ธรรมดา แต่บางรายที่ร้ายแรงเด็กอาจเสียชีวิตทันทีที่เขย่าเด็ก
     ส่วนผลกระทบในระยะยาวอาจส่งผลทางด้านสติปัญญาของเด็ก เด็กอาจตาบอด หูหนวก หรือพิการจนไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ หรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

     การป้องกันที่ดีที่สุดที่ไม่ให้เด็กเจอกับการกระทำที่รุนแรงเช่นนี้ คือพ่อแม่ควรเข้าใจธรรมชาติเด็ก เพราะเด็กไม่สามารถพูดหรือบอกออกมาได้ว่าต้องการอะไร ต้องหาสาเหตุในสิ่งที่เด็กต้องการ ไม่ใช่แค่การเอานมให้ลูกดื่ม เพราะการร้องนั้นอาจมาจากหลายสาเหตุ ไม่ใช่แค่การหิวนมเท่านั้น เด็กอาจจะปวดท้อง ไม่สบายก็ได้ ต้องเลี้ยงลูกโดยเข้าใจธรรมชาติของเด็กว่าเด็กนั้นต้องดูแลด้วยความเมตตา ไม่ควรมีอารมณ์โกรธหรือโมโห พ่อแม่ควรเข้าใจคำว่า "ครอบครัว" ให้มากขึ้นก่อนมีลูก เพราะการเตรียมพร้อมก่อนมีลูกจะทำให้พ่อแม่เข้าใจมากขึ้น เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันสร้างรากฐานของครอบครัวในสังคมให้เข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด เพราะถ้าแต่ละครอบครัวมีสิ่งเหล่านี้ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กอย่างนี้จะไม่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่การป้องกันที่ปลายเหตุอย่างกรณีที่เกิดขึ้น

     สำหรับกรณีที่เกิดขึ้น มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือเด็กตั้งแต่เบื้องต้น เด็กได้รับการช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับการฟื้นฟูเด็กจากกองทุนคุ้มครองเด็ก ตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 2546 ในกรณีนี้ฝ่ายผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเปิดช่องทางในการทำงานร่วมกันของทีมสหวิชาชีพให้มากขึ้น โดยทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก

     กรณีนี้คงเป็นอีกบทเรียนสำคัญให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ตระหนักและใส่ใจมากขึ้นเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูก การระงับหรือควบคุมอารมณ์โกรธ โมโหเป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรมีเป็นอย่างมาก เพื่อให้ลูกน้อยหลุดพ้นจากปัญหาความรุนแรง

วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553

พระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ

พระราชบัญญัติ การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ
http://www.ziddu.com/download/10792885/1.pdf.html


พระราชบัญญัติ พื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ2534
http://www.ziddu.com/download/10793368/2534.pdf.html


พระราชบัญญัติ ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชิวิตคนพิการแห่งชาติ (ว่าด้วยบริการล่ามภาษามือ) 2552
http://www.ziddu.com/download/10793205/2552.pdf.html


ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชิวิตคนพิการแห่งชาติ (ว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการจัดสวัสดิการเบี้ยคนพิการ) 2552
http://www.ziddu.com/download/10793263/2552.pdf.html

วันอังคารที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2553

กลุ่มอาการดาวน์ (Down Syndrome)


     Down Syndrome เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติทางโครโมโซม และเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มโรคที่ทำให้เกิดภาวะปัญญาอ่อน เด็กกลุ่มอาการดาวน์เหล่านี้จะมีโครโมโซม 47 โครโมโซม ซึ่งในความเป็นจริงคนปกติจะมีโครโมโซม 46 โครโมโซมต่อ 1 เซลล์ โดยสาเหตุที่พบบ่อยเกิดจากโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา 1 โครโมโซม

โครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา 1 โครโมโซม


ลักษณะของเด็กอาการดาวน์

     โดยทั่วไปแล้วเด็กกลุ่มอาการดาวน์ (Down Syndrome) จะมีความผิดปกติใน 3 ด้านหลักๆ ได้แก่ ด้านร่างกาย อารมณ์ และระดับสติปัญญา

           - ลักษณะทางร่างกาย พบว่าเด็กจะมีรูปร่างท้วมใหญ่ คอสั้น กะโหลกศีรษะเล็ก มีแผ่นหลังแบน รูปร่างของใบหน้าจะมีลักษณะเฉียงขึ้น ตาห่างและชี้ขึ้นข้างบน จมูกเล็กแบน ผิวหนังระหว่างตาจะมีรอยย่น มีลิ้นขนาดใหญ่และคับปาก หูส่วนนอกอยู่ต่ำ และมีคางขนาดเล็ก มือกว้างและสั้น นิ้วก้อยโค้งงอ ลายมือมีลักษณะมีเส้นขวางฝ่ามือ (Simian line) นอกจากนี้ ในระบบของกล้ามเนื้อและกระดูกพบว่า มีความตึงตัวของกล้ามเนื้อน้อย ข้อต่อยืดได้มาก (Hyperextensive Joint) กล้ามเนื้ออ่อนแรง ระบบผิวหนังมีความยืดหยุ่นน้อย ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการ โดยจะทำให้การเรียนรู้เกี่ยวกับการทำงาน ของกล้ามเนื้อมัดใหญ่และกล้ามเนื้อมัดเล็กช้ากว่าปกติ ดังนั้น เด็กจะมีปัญหาในการชันคอ นั่ง ยืน และเดินทุกขั้น ตอนช้ากว่าปกติ
          - ภาวะทางอารมณ์และพฤติกรรม ส่วนมากเด็กกลุ่มอาการดาวน์จะมีความอ่อนโยน ยิ้มแย้ม แจ่มใส อารมณ์ดี หัวอ่อน สอนง่าย ร่าเริง เข้ากับผู้อื่นได้ดี แต่มักจะมีภาวะอาการสมาธิสั้น
          - ด้านสติปัญญา เด็กกลุ่มอาการดาวน์จะมีระดับสติปัญญา (IQ) ต่ำกว่าเด็กปกติ อย่างไรก็ตาม เด็ก กลุ่มนี้จะมีระดับสติปัญญาแตกต่างกันหลายระดับ ซึ่งพบว่า เด็กที่ยิ่งมีระดับสติปัญญาต่ำก็จะมีปัญหาทาง พัฒนาการในด้านอื่นๆ มากขึ้นตามไปด้วย

แนวทางการบำบัดรักษาเด็กกลุ่มอาการดาวน์

     เด็กกลุ่มอาการดาวน์มีปัญหาเช่นเดียวกับเด็กที่เป็นโรคทางกรรมพันธุ์ชนิดอื่นๆ คือไม่มีทางรักษาให้ หายเป็นปกติได้ การรักษาจึงมุ่งเน้นการให้การบำบัดเพื่อให้เด็กสามารถช่วยเหลือตนเองได้ในชีวิตประจำวัน แต่สิ่งที่สำคัญ คือ การให้การยอมรับจากบุคคลในครอบครัวเพื่อเอื้อให้เด็กได้รับโอกาสในการบำบัดรักษาที่ถูกวิธี และเน้นการบำบัดรักษาแบบผสมผสานในด้านต่างๆ ได้แก่

     ด้านการแพทย์ : เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้จะมีภาวะอาการของโรคอื่นๆ ร่วมอยู่ด้วย เช่น โรคหัวใจ หรือปัญหาด้านการได้ยิน และด้านสายตา จึงควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

      ด้านกิจกรรมบำบัด : เป็นการบำบัดรักษา โดยเน้นการกระตุ้นพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมัดเล็ก การทำงานประสานกันของมือและตา เช่น การหยิบจับ การเขียน การปั้น การตัดกระดาษ เป็นต้น รวมถึงการส่งเสริมการช่วยเหลือตนเอง ได้แก่ การรับประทานอาหารด้วยตนเอง การสวม-ถอดเสื้อผ้า ทักษะการเล่น และทักษะด้านสังคม

     ด้านการแก้ไขการพูด : เป็นการช่วยลดปัญหาด้านการพูด ซึ่งเด็กกลุ่มอาการดาวน์มักจะพูดช้า พูดไม่ชัด หรือมีพัฒนาการด้านภาษาไม่สมวัย โดยนักแก้ไขการพูดจะทำการประเมิน และจัดโปรแกรมการฝึกพูดแก่เด็กเป็นรายบุคคล

     ด้านการศึกษาพิเศษ : เนื่องจากเด็กกลุ่มอาการดาวน์จะมีระดับสติปัญญาต่ำกว่าเด็กปกติ จึงเกิด ปัญหาด้านการเรียนรู้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องได้รับการฝึกสอนจากนักการศึกษาพิเศษเพื่อซ่อมเสริมความสามารถ และทักษะด้านการเรียนรู้ให้ดีมากขึ้น

การเจริญเติมโตของเด็กปกติ กับเด็กดาวน์ เมื่ออยู่ในครรถ์

ภาพ     จาก  Internet
ข้อมูล  จาก  www.specialchild.co.th