Custom Search

วันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2554

การจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กสมาธิสั้น (ต่อ)


การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนสำหรับเด็กสมาธิสั้น
        เมื่อเด็กสมาธิสั้นเข้าโรงเรียน พฤติกรรมที่พ่อแม่มองว่าน่ารักน่าเอ็นดูอาจเปลี่ยนแปลงไป จนเริ่มจะไม่เป็นที่ยอมรับของเพื่อน ๆ และคุณครู ดังนั้นคุณครูที่มีเด็กสมาธิสั้นอยู่ในห้องมักจะควบคุมเด็กเพิ่มขึ้น เพ่งเล็งเด็กมากขึ้น เพื่อน ๆ ในชั้นเรียนที่มีเด็กสมาธิสั้นเรียนอยู่ด้วยก็จะได้รับการว่ากล่าวมากกว่าห้องเรียนที่ไม่มีเด็กสมาธิสั้นเรียน
        สิ่งที่คุณครูควรทราบอีกสิ่งหนึ่งคือ  เด็กสมาธิสั้นส่วนใหญ่จะมีระดับเชาว์ปัญญาอยู่ในเกณฑ์ปกติ น้อยรายจะมีปัญญาอ่อนร่วมด้วย บางรายอาจมีระดับเชาวน์ปัญญาดีเลิศ การที่เด็กสมาธิสั้นมิได้หมายความว่าเด็กจะเรียนไม่ได้ หรือมีปัญหาในการเรียนทุกรายไป เพียงแต่มีระยะเวลาติดตามการเรียนสั้นกว่าเด็กอื่น
        ปัญหาด้านการเรียนที่พบในเด็กสมาธิสั้นบ่อยที่สุด คือ ความบกพร่องในความสามารถด้านการอ่านหนังสือ การเขียน หรือการคิดคำนวณถึงร้อยละ 10-30  จึงเรียนไม่ทันเพื่อน ทำให้มีปัญหาทางการเรียนรู้ ( Learning Disability ) จึงจำเป็นต้องจัดการเรียนการสอนที่แตกต่างไปจากเด็กปกติ
        เด็กสมาธิสั้นต้องการพ่อแม่   และคุณครูที่เข้าใจ โดยเฉพาะคุณครูจะให้ความช่วยเหลือเด็กได้เป็นอย่างดี   ส่งผลทำให้เด็กได้พัฒนาความสามารถในการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น

เทคนิคการสอนเด็กสมาธิสั้น
        เด็กสมาธิสั้นควบคุมตนเองไม่ได้ จัดระเบียบให้ตนเองไม่ได้เหมือนกับเด็กทั่วไป   ครูต้องช่วยจัดระเบียบการเรียนไม่ให้ซับซ้อนเพื่อให้เด็กสามารถประสบความสำเร็จในการเรียน

กิจกรรมประจำวัน
        กิจกรรมในแต่วันต้องมีลักษณะคงที่ มีตารางเรียนแน่นอน   ครูต้องบอกล่วงหน้าและย้ำเตือนความจำทุกครั้งก่อนมีการเปลี่ยนแปลง หาป้าย ข้อความ สัญลักษณ์ หรือช่วยเหลือความจำเด็กในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้เรียบร้อย เช่น ให้เด็กเขียนชื่อวันบนปกหนังสือหรือสมุด เพื่อให้จัดตารางเรียนได้สะดวก

การจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กสมาธิสั้น

ครูที่สอนเด็กสมาธิสั้น ควรมีสิ่งต่อไปนี้
        1. มีความรู้เรื่องเด็กสมาธิสั้น
        2. มีความต้องการที่จะรับรู้ลักษณะความต้องการพิเศษของเด็กสมาธิสั้น
        3. มีเทคนิคการสอนเด็กสมาธิสั้น
        4. มีความสามารถวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาว่าพฤติกรรมใดที่แสดงว่าเด็กทำไม่ได้ พฤติกรรมใดที่เกิดจากการต่อต้าน
        5. เลือกวิธีใช้ในการแก้ปัญหาของเด็กและแรงจูงใจให้เด็กเรียน
        6. มีความสนใจที่จะทำความเข้าใจเด็กมากกว่าสนใจผลการเรียนของเด็ก
        7. ใช้การเสริมแรงทางบวก เช่น จับไหล่ เคาะสมุด เพื่อดึงความสนใจให้มาอยู่ที่แบบเรียนมากกว่าการเสริมแรงทางลบ เช่น เรียกชื่อ ดุ ด่า ว่าประจานในห้องให้อับอาย
        8. มีเวลาที่จะเรียกเด็กมาพูดคุยชี้แนะนอกเวลาเรียน
        9. พูดคุยกับผู้ปกครองอย่างน้อย 1 ครั้ง / สัปดาห์ หรือจดหมายติดต่อสื่อสารเกี่ยวกับเด็ก
        10. ใช้คำพูดสั้น ๆ บอกแนวทางการทำงานและผลงานที่ครูต้องการ
        11  มีความสามารถควบคุมห้องเรียนได้
        12  ยอมให้เด็กเคลื่อนไหวในห้องเรียนได้บ้างก่อนทำงานที่มอบหมายเสร็จเรียบร้อย
        13  มีข้อตกลงและระเบียบของห้องเรียน
        14  เนื้อหาการเรียนขึ้นอยู่กับความสามารถของเด็ก
        15  วิชาเรียนที่เด็กสนใจควรจัดให้สลับกับวิชาเรียนที่เด็กไม่สนใจ

การเตรียมการสอน
        การเตรียมการสอนครูจะต้องเตรียมและดำเนินการ ดังนี้
        1.   งานที่ให้ทำต้องพอเหมาะกับความสนใจของเด็ก ก่อนสอนครูต้องสังเกตความสนใจ ช่วงความสนใจของเด็ก ครูต้องแบ่งงานเป็นขั้นตอนย่อย ๆ ใช้เวลาไม่เกิน 4 นาทีแล้วให้เด็กทำทีละขั้น เมื่อเสร็จแล้วจึงให้ทำขั้นต่อ ๆ ไปตามลำดับ
        2.   งานบางอย่างที่เกินความสามารถของเด็กสมาธิสั้นจะทำได้ครบทุกขั้นตอนด้วยตนเอง ครูอาจให้เด็กทำขั้นที่เด็กแน่ใจว่าทำได้ ครูตรวจเมื่อถึงขั้นที่เด็กไม่แม่นยำก่อนที่จะทำต่อไป และเรียกเด็กมาทำตัวต่อตัวเมื่อถึงขั้นที่เด็กยังทำไม่ได้

การมอบหมาย
        1.   ครูควรใช้คำพูดให้น้อยลง พูดช้า ๆ ชัดเจน กระชับ ครอบคลุม ไม่ใช้คำสั่งที่คลุมเครือ ไม่บ่นตำหนิติเตียนจนเด็กแยกไม่ถูกว่าครูให้ทำอะไร
        2.   ให้เด็กสมาธิสั้นพูดทบทวนที่ครูสั่งหรืออธิบายก่อนลงมือทำ เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กเข้าใจในสิ่งที่ครูพูด และครูเห็นปัญหาว่าเด็กไม่เข้าใจเรื่องใด และเป็นการฝึกให้เด็กพูดถ่ายทอดความคิดของตนเอง

การควบคุมขณะทำงาน
        1.   ให้เด็กทำงานเป็นขั้นตอน เช่น ทำทีละข้อ หรือทีละหน้า อย่าให้งานจนเด็กรู้สึกว่ามากเกินไป
        2.   การฝึกให้เด็กควบคุมตนเองเพื่อทำงาน ครูควรควบคุมการทำงานโดยบอกให้เด็กทำงานทีละขั้น เมื่อเด็กทำได้ดีแล้วครูค่อย ๆ ถอนตัวออก แต่ก็อย่าทิ้งไปเลย ควรตรวจการทำงานเป็นครั้งคราว
        3.   ฝึกเด็กให้ทำงานทีละอย่างให้สำเร็จ แล้วจึงเริ่มงานชิ้นใหม่ต่อไป
        4.   ให้เด็กทำงานตามเวลาที่กำหนดให้ เมื่อครบเวลาที่กำหนดแล้วถ้ายังไม่เสร็จครูต้องตรวจงานของเด็ก

การจัดห้องเรียน
          เขียนข้อตกลง ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น ถอดรองเท้าก่อนเข้าห้องเรียน   ไม่วิ่งเล่นในห้องเรียน ส่งการบ้านที่นี่ เป็นต้น
          ข้อตกลงควรมีลักษณะเข้าใจง่าย เขียนสั้น ๆ เฉพาะที่สำคัญ แน่นอนไม่เปลี่ยนไปมา ทบทวนข้อตกลงบ่อย ๆ ลงโทษตามที่ตกลงกันไว้ ให้เจตคติทางบวก เป็นต้น
          จัดหาที่วางของในห้องเรียนในตำแหน่งเดิม เพื่อให้เด็กจำง่ายว่าจะวางอะไรไว้ที่ใด วางให้เป็นที่เป็นทาง
          สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้นักเรียนรู้ขอบเขตความประพฤติของตนเอง

การจัดที่นั่ง
        1.1   จัดให้นั่งข้างหน้า หรือ แถวกลาง
        1.2   ไม่อยู่ใกล้ประตูหรือหน้าต่างที่มองเห็นข้างนอกห้องเรียน
        1.3   จัดให้นั่งใกล้ครูเพื่อดูแลได้อย่างใกล้ชิด
        1.4   ไม่ให้เพื่อที่ซุกซนชอบเล่นนั่งอยู่ใกล้ ๆ