Custom Search

วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2554

โรคเอ๋อ (ภาวะขาด ธัยรอยด์ฮอร์โมน) ในเด็ก

          คุณพ่อ คุณแม่หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องโรคเอ๋อกันจากรายการวิทยุ หรืออ่านจากข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ แต่คงจะไม่รู้จักในรายละเอียดกันว่า โรคเอ๋อจริงๆนั้นเป็นอย่างไร และลูกของเรานั้นเป็นโรคเอ๋อหรือไม่ จะมีวิธีการตรวจได้อย่างไร หรือถ้าเป็นแล้วจะรักษาได้ไหม

          โรคเอ๋อ นั้นเป็นที่เรียกกันให้เข้าใจง่าย เพราะเป็นภาษาชาวบ้านที่ใช้ เรียก เด็กที่มีภาวะปัญญาอ่อน ที่พบบ่อยตามหมู่บ้านบางแห่ง ในภาคเหนือ และ ภาคอีสานของไทย ซึ่งเมื่อเข้าไปศึกษาดู สาเหตุของภาวะปัญญาอ่อน ในเด็กเหล่านี้แล้วก็พบว่า เกิดจากการขาด ธัยรอยด์ฮอร์โมน

          ธัยรอยด์ฮอร์โมนนั้น คือ ฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมธัยรอยด์ ซึ่งก็คือต่อมที่อยู่ตรงบริเวณคอ ตรงที่เรียกกันว่า ลูกกระเดือก หรือ คอหอย ในคอของทุกคนนั่นเอง ต่อมธัยรอยด์นี้จะสร้างฮอร์โมน ที่มีความสำคัญมาก เพราะจะมีผลทำให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายรวมทั้ง สมอง มีการเจริญเติบโต โดยการทำงานร่วมกับ ฮอร์โมนอื่นๆ ในร่างกาย ทำให้มีการเจริญเติบโต ของกระดูก และ ฟัน การควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ฯลฯ

          ดังนั้นการขาดธัยรอยด์ฮอร์โมน จึงมีผลทำให้ผู้นั้นเกิดความเฉื่อยชา รู้สึกหนาวง่าย และจะไม่ค่อย เจริญเติบโตสมวัย ไปถึงขั้นมีความเสื่อมของสติปัญญา ได้

          ปัญหาโรคเอ๋อในเด็กนั้น จะเกิดได้ ใน 2 ลักษณะ คือ
          แบบแรก  ทารกเกิดมา โดยมีการผิดปกติของการสร้าง ธัยรอยด์ฮอร์โมน ตั้งแต่กำเนิด ซึ่งอาจเป็นจากที่เกิดมา โดยไม่มีต่อมธัยรอยด์นี้มาด้วย หรือ ถ้ามีก็อยู่ผิดที่ และไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ แต่ทารกที่คลอดออกมานั้น จะดูไม่ออกว่ามีปัญหานี้ เนื่องจากตอนที่ทารกอยู่ในครรภ์นั้นทารกจะ ได้รับธัยรอยด์ฮอร์โมน จากแม่มาช่วยในการเจริญเติบโต ระหว่างอยู่ในครรภ์ แต่ต่อมา ไม่นาน (เพียงไม่กี่สัปดาห์) ก็จะมีภาวะขาดธัยรอยด์ฮอร์โมน ทำให้ทารกมีลักษณะเซื่องซึม, เอาแต่นอน, ทานนมไม่เก่ง, ท้องผูก, ท้องอืด, สะดือจุ่น, มีภาวะตัวเหลืองหลังคลอด นานกว่าปกติ , ไม่ค่อยร้องกวน (ทำให้คุณพ่อ คุณแม่ บางคนคิดว่า ลูกเป็นเด็กเลี้ยงง่าย) ร้องเสียงแหบ ดูลิ้นใหญ่ จุกปาก, ผิวแห้งเย็น, เติบโตช้า , มีการพัฒนาการช้ากว่าเกณฑ์อายุในทุก ๆ ด้าน เช่น เด็กอายุ 3 เดือน ควรจะ ชันคอได้ดีแล้ว แต่เด็กที่มีปัญหาโรคเอ๋อจะยังคอไม่แข็ง ไม่สามารถยกศีรษะให้ตั้งอยู่ได้นาน

          ในประเทศไทยเรานั้นยังพบว่า มีสาเหตุพิเศษ อีกอย่างหนึ่ง คือ การที่คุณแม่มีปัญหาขาด ธัยรอยด์ฮอร์โมน หรือ ขาดไอโอดีน ในระหว่างการตั้งครรภ์ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ที่ขาดสารไอโอดีน ในอาหาร และ น้ำดื่ม เช่น บางอำเภอทางภาคเหนือ หรือ บนภูเขาที่ทุรกันดาร และ บางจังหวัดทางภาคอีสาน ทำให้พบว่า เด็กในบางหมู่บ้าน เป็นโรคเอ๋อกันมาก

          แบบที่สอง  คือ ภาวะการขาด ธัยรอยด์ฮอร์โมนที่มาเป็นภายหลัง เช่น มีการติดเชื้อของต่อมธัยรอยด์ หรือ ได้รับยาบางชนิดที่รบกวน การทำงานของต่อมธัยรอยด์ ทำให้มีการสร้างธัยรอยด์ฮอร์โมนน้อยลง จนทำให้เกิดอาการเอ๋อได้ เด็กที่เกิดมาจะดูเป็นปกติ และ ในช่วงแรกก็มี การเจริญเติบโต และ พัฒนาการได้สมวัย แต่เมื่อเริ่มมีการขาดธัยรอยด์ฮอร์โมน ก็จะมีอัตราการเจริญเติบโต ค่อยๆช้าลง และเริ่มมีอาการ ของการขาดธัยรอยด์ฮอร์โมน ให้เห็นชัดเจนขึ้น เด็กจะมี ตัวเตี้ย เฉื่อยชา และ มีอายุกระดูกช้า (จากการตรวจดูอายุกระดูก โดยการเอกซ์เรย์ )

          ซึ่งถ้าพบว่า ทารกรายใดมีผลเลือดผิดปกติ ก็จะได้มีการติดตามทารกรายนั้นมา ทำการตรวจเลือดเพิ่มเติม เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และเริ่มการรักษาด้วย ธัยรอยด์ฮอร์โมน ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่ทารกจะมีอาการของโรคเอ๋อ และ สามารถป้องกันการเกิดภาวะปัญญาอ่อนได้ ทำให้ทารกนั้นมีการเจริญเติบโต และ พัฒนาการได้อย่างปกติ

ฮอร์โมนที่มีผลอย่างชัดเจนต่อการเจริญเติบโตในเด็ก


          ฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโต (Growth Hormone) 
          ถูกสร้างขึ้นจากต่อมใต้สมอง (Pituitary Gland) อันเป็นต่อมขนาดเล็กอยู่บริเวณฐานของสมอง ฮอร์โมนนี้มีความจำเป็นโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย หากเกิดการเสียสมดุลของระดับฮอร์โมนนี้ขึ้นเมื่อใด จะส่งผลกระทบที่สังเกตได้อย่างชัดเจน

          ธัยร๊อกซิน (Thyroxine)
          หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า ธัยรอยด์ฮอร์โมน ถูกสร้างและหลั่งจากต่อม ธัยรอยด์ที่อยู่บริเวณลำคอ มีหน้าที่สำคัญในการกระตุ้นระบบการเผาผลาญอาหารของร่างกาย และช่วยให้ กระดูกมีพัฒนาการอย่างปกติ

          แอนโดรเจน (Androgen) 
          ก็คือฮอร์โมนเพศชายนั่นเอง ถูกสร้างขึ้นที่อัณฑะและต่อมหมวกไตในเด็กชาย ในเด็กหญิงก็มีบ้างแต่ในปริมาณที่น้อย โดยถูกสร้างจากรังไข่และต่อมหมวกไต แอนโดรเจนจะทำงานร่วมกับฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโตในการกระตุ้นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเด็กชายช่วงวัยเจริญพันธุ์

          เอสโตรเจน (Estrogen) 
          หรือฮอร์โมนเพศหญิง จะถูกสร้างขึ้นที่รังไข่ มีหน้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาการต่าง ๆ ทางเพศของเด็กหญิงในช่วงวัยเจริญพันธุ์

          อินซูลิน (Insulin) 
          ถูกสร้างและหลั่งจากตับอ่อน มีหน้าที่กระตุ้นการเผาผลาญน้ำตาลเพื่อนำไปใช้ เป็นพลังงานแก่ร่างกาย ระดับของอินซูลินจึงมีผลต่ออัตราการเจริญเติบโตของร่างกาย

          คอร์ติซอล (Cortisol)
          หลั่งจากต่อมหมวกไตเข้าสู่กระแสเลือด เมื่อร่างกายต้องตอบสนองต่อสภาวะเครียด การที่มีระดับของคอร์ติซอลสูงเกินไป อาจมีผลรบกวนการเจริญเติบโตตามปกติได้


วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การจัดการศึกษาเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายหรือการเคลื่อนไหว

          เด็กที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายหรือการเคลื่อนไหว หมายถึง เด็กที่มีความผิดปกติของแขน ขา หรือลำตัวรวมถึงศีรษะเป็นเด็กที่มีความผิดปกติบกพร่องหรือสูญเสียอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ดีเท่าคนปกติแต่ไม่ได้หมายถึงเด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นและเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินแม้ว่าดวงตาและระบบการได้ยินเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายก็ตาม เด็กที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายหรือเคลื่อนไหวสามารถสังเกตได้ดังนี้
          1.  ร่างกายเติบโตไม่ปกติ เช่น แขนหรือขาไม่เท่ากันทั้งสองข้าง ลำตัวเล็กผิดปกติอวัยวะผิดรูป เช่น เท้าติด เอวคด หลัง-ลำตัวโค้งงอผิดปกติ แขนขาด้วน
          2.  กล้ามเนื้อผิดปกติ เช่น แขน-ขา ลำตัวลีบ ไม่มีแรงอย่างคนปกติ
          3.  ไม่สามารถเคลื่อนไหวอวัยวะต่างๆ เช่น ไม่สามารถเคลื่อนลำตัว แขน-ขา มือหรือเท้าได้อย่างคนทั่วไป
          4.  ไม่สามารถนั่ง ยืนได้ด้วยตนเอง
          5.  ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ เช่น ไม่สามารถรับประทานอาหาร อาบน้ำ ถอด-ใส่ เสื้อผ้าได้ด้วยตนเอง

การให้ความช่วยเหลือ
          เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหวอาจมีความบกพร่องหลายอย่างในบุคคลเดียว การฟื้นฟูสมรรถภาพความพิการจึงจำเป็นต้องมีหลายด้านตามสภาพความบกพร่องของเด็กแต่ละบุคคลซึ่งการบำบัดฟื้นฟูต่าง ๆได้แก่
                    กายภาพบำบัด  เป็นการฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายตั้งแต่แรกเริ่มในด้านต่างๆ เช่น การทรงตัว การนั่ง หรือการยืนทรงตัวเพื่อกระตุ้นให้เด็กได้เคลื่อนไหวอวัยวะต่างๆในลักษณะที่ถูกต้อง เป็นพื้นฐานในการเคลื่อนไหวที่ถูกต้องต่อไป
                    กิจกรรมบำบัด  เป็นการฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายเพื่อเน้นให้เด็กช่วยเหลือตนเองได้มากที่สุด สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีและเร็วที่สุด สามารถอยู่อย่างปกติสุขเช่นคนทั่วไปโดยเน้นทักษะกล้ามเนื้อย่อย เช่น การรับประทานหาร การทำความสะอาดร่างกาย การแต่งตัวเป็นต้น
                    อรรถบำบัดหรือการแก้ไขคำพูด  ในส่วนที่เด็กมีความบกพร่องทางการพูดจะต้องฝึกการควบคุมน้ำลาย การกลืน การเคี้ยวอาหาร ฝึกโดยใช้อุปกรณ์ประเภทเครื่องเล่นที่เกี่ยวกับการออกเสียง เครื่องดนตรีชนิดเป่า การเป่ากระดาษ หรืออุปกรณ์ชนิดอื่นๆให้เด็กได้รู้ว่าคนเราพูดเมื่อเวลาหายใจออกเท่านั้น
                    ศิลปะบำบัดและดนตรีบำบัด  เป็นกิจกรรมเสริมเพื่อพัฒนาเด็กที่มีความแตกต่างกันในด้านต่างๆให้มีการพัฒนาอย่างเหมาะสมตามศักยภาพโดยคำนึงถึงความสนุกสนาน ความต้องการธรรมชาติรวมถึงความจำเป็นของเด็กเป็นรายบุคคล

การเรียนร่วมระหว่างเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายกับเด็กปกติ
          การเรียนร่วมระหว่างเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายหรือการเคลื่อนไหวได้แบ่งระดับของกิจกรรมการเรียนไว้ 3 ระดับคือ
1.  ระดับก่อนวัยเรียน  จุดมุ่งหมายสำคัญของการให้การศึกษาแก่เด็กที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายคือ การเตรียมความพร้อมของเด็กเพื่อการเรียนร่วม เด็กที่ได้รับการเตรียมความพร้อมแล้วเท่านั้นจึงจะประสบความสำเร็จในการเรียนร่วมกับเด็กปกติ ความพร้อมที่ควรจะได้รับการเตรียมในระดับนี้ได้แก่ ความพร้อมในการเคลื่อนไหว การช่วยเหลือตนเอง ทักษะทางสังคมและพัฒนาการทางภาษาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว เด็กที่มีคงวามบกพร่องทางด้านร่างกายควรได้รับบริการทางด้านการบำบัดควบคู่กันไป การบำบัดที่จำเป็นได้แก่กายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัดและการบำบัดทางภาษา
2.  ระดับประถมศึกษา เด็กอาจเริ่มเรียนรวมกับเด็กปกติในลักษณะของการเรียนร่วมเต็มเวลาได้โดยไม่ต้องการการบริการพิเศษเพิ่มเต็ม เช่น เด็กที่ใช้แขนหรือขาเทียม ซึ่งสามารถใช้หรือขาเทียมได้ดี ระดับสติปัญญาปกติและไม่มีความพิการด้านอื่นเด็กประเภทนี้สามารถเรียนร่วมเต็มเวลาได้ เด็กที่มีความสามารถบกพร่องทางร่างกายอื่นก็สามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติได้ หากเด็กได้รับการเตรียมความพร้อมแล้วและทางโรงเรียนจัดบริการเพิ่มเติมให้กับเด็กการพิจารณาจัดเด็กเข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติพิจารณาเด็กเป็นรายบุคคล
3.  ระดับมัธยมศึกษา การศึกษาในระดับมัธยมศึกษาเน้นด้านวิชาการและพื้นฐานด้านการงานและอาชีพหากเด็กมีความพร้อมควรให้เด็กมีโอกาสเรียนร่วมเต็มเวลาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เด็กที่จะเรียนร่วมได้ดีควรเป็นเด็กที่สามารถช่วยตัวเองได้ในด้านการเคลื่อนไหวและการประกอบกิจวัตรประจำวันมีคงวามสามารถในการสื่อสารกับผู้อื่นและมีพื้นฐานอาชีพใกล้เคียงกับเด็กปกติ อย่างไรก็ตามเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายอาจยังต้องการบริการพิเศษ เช่น การบำบัดทางกายภาพ กิจกรรมบำบัด การแก้ไขคำพูดเบื้องต้น การพิจารณาส่งเด็กเข้าเรียนร่วมจะต้องพิจารณาความสามารถและความพร้อมของเด็กเป็นรายๆไป ทั้งนี้เพราะเด็กแต่ละคนมีความสามารถและระดับความพร้อมแตกต่างกัน

การประเมินผล
          การประเมินผล ควรดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนและตามเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ในแผนการศึกษาเฉพราะบุคคล มีการประเมินผลระยะสั้นทุกภาคเรียน และมีการประเมินผลระยะยาวอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
          การประเมินผลต้องมีผลสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายที่วางไว้ในแผนการศึกษา มีกานเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเด็กให้มากที่สุด เพื่อให้การประเมินผลมีประสิทธิภาพ และข้อมุลยังจำเป็นสำหรับการวางแผนระยะยาวอีกด้วย