Custom Search

วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554

Animal Therapy เพื่อนรักบำบัดโรค


          สัตว์บำบัด (Animal Therapy) เป็นศาสตร์หนึ่งของการแพทย์ทางเลือกในปัจจุบัน เริ่มนิยมแพร่หลายในโลกตะวันตกช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะกับผู้ป่วยโรคทางจิตเวชและกล้ามเนื้อ แต่สำหรับการแพทย์ทางเลือกของไทย สัตว์บำบัดที่เข้ามามีบทบาทเป็นรูปธรรมมากที่สุดคือ การบำบัดเด็กพิเศษด้วยม้าหรืออาชาบำบัด

ม้าบำบัด .... สัญชาติญาณเสริมสร้างพัฒนาการ 
          ในทวีปยุโรปและอเมริกา "ม้าบำบัด" หรือ Horse Therapy หรือ Hippotherapy เกิดขึ้นราว ค.ศ.1900 เริ่มต้นด้วยแนวคิดที่ว่า "การเคลื่อนไหวของม้าใกล้เคียงกับการเคลื่อนไหวร่างกายของมนุษย์มากที่สุด ขณะอยู่บนหลังม้าคนกับม้าจะเคลื่อนไหวด้วยความรู้สึกเดียวกัน ไปพร้อมๆ กัน ทำให้เกิดสมาธิ สติ และสมดุลในร่างกาย"
          ส่วนม้าบำบัดในเมืองไทย เฉพาะภาครัฐ พ.ต.อ.วุฒิวงศ์ มงคลนาวิน ผู้กำกับการ 4 (ตำรวจม้า) กองบังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ผู้ก่อตั้งม้าบำบัดแห่งแรก เล่าว่า "เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2548 เกิดจากความต้องการที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประชาชน รวมทั้งใช้ทรัพยากรที่มีทั้งม้าและตำรวจในสังกัด ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด หลักการง่ายๆของม้าบำบัดคือโดยธรรมชาติ คนเราเวลาขี่ม้ามักจะกลัวตก ทำให้เกิดสติระแวดระวังภัย ส่งผลให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายถูกกระตุ้นและทำงานประสานกันอย่างเต็มที่ เป็นการช่วยฟื้นฟูได้ทั้งสภาพกายและจิตใจ"
          ปัจจุบันได้มีโครงการ "ม้าบำบัดเพื่อเด็กพิเศษ" ซึ่งให้บริการแก่เด็กที่มีอาการผิดปกติต่างๆ เช่น ออทิสติก พิการทางสมอง ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ สมาธิสั้น พัฒนาการไม่เป็นตามวัย ฯลฯ ก่อนจะเริ่มโครงการต้องมีการคัดตำรวจอาสาสมัครเพื่อเข้ารับการฝึกบังคับม้าและจิตวิทยาเพื่อดูแลเด็ก จากนักกายภาพบำบัดผู้เชี่ยวชาญ แห่งศูนย์ Naplesequestrianchallenge อเมริกา โดยม้าที่ใช้บำบัดต้องได้รับการฝึกพิเศษกว่า 52 สัปดาห์ ในขณะบำบัดบนหลังม้า ตำรวจพี่เลี้ยงจะคอยชวนเด็กพูดคุย เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กเกิดความคุ้นเคยและยอมรับความรู้สึกผ่านทางการเคลื่อนไหวของม้า เมื่อครบระยะทางการบำบัด 1 กิโลเมตร จะมีกิจกรรมกลุ่มคือการกายบริหารบนหลังม้า เพื่อเสริมให้เด็กๆ เรียนรู้การใช้ชีวิตในสังคม ร่วมกับเพื่อนๆ ที่เข้ารับการบำบัด

สัตว์เลี้ยงบำบัดโรคได้อย่างไร
          ลองนึกภาพขณะเล่นกับสัตว์เลี้ยงหรือเข้าเยี่ยมชมสวนสัตว์หรือแม้แต่โชว์ของสัตว์ต่างๆ เสียงหัวเราะและความประทับใจที่เกิดขึ้น เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนสำหรับการบำบัดความเครียดในคนปกติ ส่วนคนสูงอายุหรือคนป่วยที่มีปัญหาทางกล้ามเนื้อ เมื่อได้เล่นกับสัตว์เลี้ยง สัมผัสด้วย การแปรงขน ให้อาหาร จูงสัตว์เลี้ยงเดินเล่น ก็เป็นการฝึกพัฒนาการกล้ามเนื้อไปพร้อมกับบำบัดจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด ได้อีกด้วย
ส่วนคนไข้ป่วยหนักที่ลุกออกจากเตียงไม่ได้ การได้เห็นหรือได้สัมผัสกับสัตว์เลี้ยงตัวโปรดจะช่วยให้ลืมความเจ็บปวดจากโรคร้ายและยืดเวลาอยู่บนโลกนี้ให้นานขึ้นได้ จากผลการสำรวจผู้ป่วย 92 รายในโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคหัวใจ ในนิวยอร์กพบว่า ผู้ป่วยที่มีสัตว์เลี้ยงอายุยืนกว่าผู้ที่ไม่มีสัตว์เลี้ยง เนื่องเพราะสัมผัสจากสัตว์เลี้ยงช่วยลดความดันโลหิต ปรับสมดุลความเครียด จึงทำให้ร่างกายและจิตใจสดใสแข็งแรง หรือแม้แต่ในเด็กพิเศษ สัมผัสและกิริยาที่ใสซื่อของสัตว์ก็เป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยให้เด็กเหล่านี้กลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง และมีชีวิตที่ปกติในสังคมได้
          ในประเทศไทย การบำบัดโรคด้วยสัตว์หรือสัตว์เลี้ยงบำบัด ถือเป็นเรื่องของวงการแพทย์ทางเลือก ถึงแม้ยังไม่มีหน่วยงานดูแลและพัฒนาการบำบัดแบบนี้อย่างชัดเจน แต่ก็มีหลายโรงพยาบาลที่เริ่มใช้สัตว์เลี้ยงมาช่วยรักษาอาการของผู้ป่วย ที่สถาบันราชานุกูลและบ้านพักคนชราก็มีการทดลองใช้สัตว์เลี้ยงบำบัดกับผู้ป่วยทางจิตและคนชรา คล้ายกับที่หน่วยงานตำรวจใช้ม้าในการบำบัดเด็กพิเศษ
          อันที่จริงแล้วสัตว์เลี้ยงทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น สุนัข แมว นก ปลา หรือสัตว์อื่นๆ ที่ผู้ป่วยชื่นชอบ สามารถใช้ในการบำบัดโรคได้ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับอาการป่วย เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการภูมิแพ้ร่วมด้วยไม่เหมาะกับการใช้สัตว์ที่มีขนยาวในการบำบัดโรค เป็นต้น