Custom Search

วันพุธที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2554

เมื่อพบว่าลูกเป็น "เด็กพิเศษ"


     คำว่า เด็กพิเศษ เป็นคำที่เรามักได้ยินกันบ่อยๆ ในช่วงหลัง เนื่องจากมีประเด็นข่าวเกี่ยวกับเด็กพิเศษเกิดขึ้นหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เด็กหนุ่มคนหนึ่งขับรถชนคนตายเนื่องจากมีความบกพร่องทางอารมณ์ในลักษณะของ เด็กพิเศษ หรือกรณีของเด็กที่เป็นโรคออทิสติก หลายคนอาจสงสัยว่าพวกเขาคือใคร และเด็กแบบไหนที่จัดอยู่ในกลุ่มเด็กพิเศษ และเด็กกลุ่มนี้มีความสำคัญอย่างไร

     เมื่อกล่าวถึงเด็กพิเศษ แต่ละคนก็มักมีความเข้าใจที่แตกต่างกันไป บางคนนึกถึงเด็กที่มีความสามารถพิเศษ บางคนนึกถึงเด็กที่มีความบกพร่องเด็กพิเศษ เริ่มได้รับความสนใจ และการดูแลช่วยเหลืออย่างจริงจัง มาเมื่อไม่นานนี้ ทั้งๆ ที่เด็กกลุ่มนี้มีมานานแล้ว ซึ่ง นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นได้กล่าวถึงความหมายของ เด็กพิเศษ (Special Child) ว่าหมายถึง เด็กที่มีความต้องการพิเศษ หรืออีกนัยหนึ่งคือเด็กกลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับการดูและ ช่วยเหลือเป็นพิเศษ เพิ่มเติมจากวิธีการตามปกติ ทั้งในด้านการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ และการเข้าสังคม เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพของเขาเอง โดยออกแบบการดูแล ช่วยเหลือเด็ก ตามลักษณะความจำเป็น และความต้องการของเด็กแต่ละคนโดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ 1. เด็กที่มีความสามารถพิเศษ 2. เด็กที่มีความบกพร่อง และ 3. เด็กด้อยโอกาส

     คุณสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ กรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ และผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าวถึงวิธีการดูและเด็กพิเศษในกลุ่มที่สอง คือกลุ่มเด็กที่มีความบกพร่อง โดยเด็กในกลุ่มนี้จะมีความบกพร่องในด้านต่างๆ ได้แก่ เด็กที่มีความบกพร่องทางอารมณ์ และพฤติกรรม เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา (Intellectual Disabilities) เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disabilities) และเด็กออทิสติก

เด็กพิเศษ ปัญหาทางสมองที่ส่งผลต่อพฤติกรรม

     เด็กพิเศษไม่ว่าจะเป็นเด็กออทิสติก หรือ Learining disability หรือ LD ก็อยู่ในกลุ่มเดียวกันคือ มีปัญหาทางสมอง ส่วนใหญ่จะมีความผิดปกติในสมอง วิธีสังเกตเด็กว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ให้ดูเช่นว่า นับตัวเลขถอยหลังไม่ได้ ทำให้เห็นว่ามีปัญหาบางอย่างที่สมอง หรือเด็กเรียนไม่ทันเพื่อน รวมทั้งไม่มีพัฒนาการในเรื่องการพูด การคิด การตอบโต้ที่ควรจะเป็นแต่ละช่วงวัย

     เมื่อเด็กมีปัญหาบกพร่องที่สมองจะส่งผลต่อพฤติกรรม พฤติกรรมของเขาที่แสดงออก เช่น สมาธิสั้น ทำให้เขาสื่อสารกับผู้อื่นอย่างต่อเนื่องไม่ได้ เวลาเราบอกให้เขาทำอะไร เขาอาจจะไม่ฟัง และไม่เข้าใจ และที่สำคัญ คือเขาจะไม่เข้าใจเรื่องความเหมาะสม อะไรสมควรทำหรือไม่สมควร เพราะสมองมีปัญหา สุดท้ายคือไม่สามารถควบคุมตัวเองได้เพราะสมองส่วนหน้ามีความผิดปกติ คิดด้วยวิธีการทั่วๆ ไปไม่ได้ ที่ผ่านมาจะเห็นว่าเกิดกรณีบุคคลที่มีความบกพร่องด้านสมองไปขับรถชนคนตาย อันนั้นก็ชัดเจนเลยว่าคนที่มีอาการแบบนี้ไม่ควรขับรถ เพราะการใช้รถใช้ถนนมีปัจจัยที่จะมากระตุ้นอารมณ์ ถูกขับรถปาดหน้า บีบแตรไล่ ก็เกิดปัญหาทางอารมณ์ขึ้นมา ควบคุมตัวเองไม่ได้ก็จะไม่รู้ตัว ไม่รู้เท่าทันตัวเอง

ทำอย่างไร? เมื่อพบว่าลูกเป็นเด็กพิเศษ

     1. พ่อแม่ควรดูพัฒนาการของลูก และให้ความสำคัญต่อการตรวจรักษา โรคเหล่านี้หากเราต้องรู้แต่เนิ่นๆ จะเป็นการดีมาก อาจจะรักษาไม่หายขาด แต่ก็รักษาได้ในระดับที่สามารถใช้ชีวิตได้เช่นคนปกติ ปัจจุบันนี้มีคลินิกเด็กสุขภาพดีตามโพงพยาบาลของรัฐทั่วไป ไม่จำเป็นต้องเป็นโรคภัยไข้เจ็บก็สามารถพาเด็กไปตรวจวัดพัฒนาการตามวัยได้ ทั้งนี้กุมารแพทย์อาจจะตรวจพบความผิดปกติของเด็กได้ ถ้าไม่มีการตรวจดังกล่าว ต่อไปเด็กอาจจะมีปัญหาร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ การให้ความสำคัญต่อการตรวจรักษาจะทำให้พ่อแม่ได้รู้จักอาการของลูกและหาวิธีป้องกันแก้ไขได้ง่ายขึ้น

     2. พาไปรักษาอย่างต่อเนื่อง ถ้ามียาต้องกิน ควรจัดการให้ลูกกินยาให้ครบถ้วนและพาไปทำกิจกรรมบำบัดฟื้นฟูให้ครบถ้วน รวมทั้งจะต้องรู้ว่ามีข้อพึงระวังอะไรบ้างที่จะไม่ไปกระตุ้นให้เด็กมีปัญหาทางอารมณ์หรือแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

     3. วิธีที่จะแทรกแซงพฤติกรรมของเด็กกลุ่มนี้ ห้ามไม่ให้ใช้ความรุนแรงอย่างเด็ดขาด เพราะถ้าใช้ความรุนแรงเด็กจะตอบโต้ด้วยวิธีการรุนแรงเช่นเดียวกัน ถ้าเขาแข็งแรงพอ หรือถ้าไม่แข็งแรง เขาจะรอจนแข็งแรงพอแล้วจะตอบโต้หรือถ้าไม่ตอบโต้กับพ่อแม่ก็ไปใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่น แล้วเขาจะมีปัญหาทางอารมณ์และจิตใจมากขึ้น เพราะพื้นฐานมีปัญหาอยู่แล้ว

     4. หากเขาแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมใช้วิธีการเบี่ยงเบนความสนใจ เพราะเด็กเหล่านี้มีประเด็นหนึ่งร่วมกันคือ สมาธิสั้น เราก็ชักนำเขาให้ไปสนใจเรื่องอื่น เช่น ร้องจะเอาของเล่น ก็เบี่ยงเบนให้ไปสนใจหรือดูอย่างอื่น เป็นต้น

     5. ให้เด็กทำกิจกรรมออกกำลังกาย ต้องเน้นการออกกำลังกายที่ไม่มีการแข่งขันหรือกระตุ้นความเครียด เช่น ว่ายน้ำเล่น เต้นแอโรบิก วิ่งเล่น หรือปีนเขาเดินป่า หากเป็นกีฬาแข่งขันหรือต่อสู้ แข่งขันแล้วสู้ไม่ได้ เขาจะมีปัญหาทางอารมณ์มาก พยายามให้เขาหลีกเลี่ยงการกีฬาที่ต้องต่อสู้ เช่น มวย ฟันดาบ ยูโด หรืออื่นๆ ซึ่งจะกระตุ้นอารมณ์โกรธและใช้ความรุนแรงของเด็ก

     6. ให้เด็กทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ ต้องกระทำภายใต้การควบคุมอย่างใกล้ชิดของพ่อแม่ กิจกรรมเหล่านี้ต้องมีตัวผู้รับประโยชน์จากเกที่ชัดเจน เช่น ไปอ่านหนังสือให้ผู้สูงอายุฟัง หรือไปช่วยดูแลสุขอนามัยของผู้สูงอายุ ไปช่วยประคองเวลาเขาเดินไปเข้าห้องน้ำ จะช่วยทำให้เขาคิดถึงตัวเองน้อยลง เพราะเด็กกลุ่มนี้จะมีปัญหามากขึ้นไปหลายเท่า ถ้าเขาคิดหมกมุ่นกับตัวเองอย่างเดียว นอกจากนั้นการแสดงความชื่นชมของผู้รับประโยชน์จะทำให้เขารู้สึกว่าตนมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น มีอะไรดีๆ เหมือนผู้อื่น

     7. ไม่ปล่อยเด็กไว้ตามลำพัง ต้องมีการจัดการดูแลอย่างต่อเนื่อง ถ้าพ่อแม่ไม่สามารถดูและได้ด้วยตนเอง ต้องมีผู้อื่นมารับช่วงดูแลอย่างต่อเนื่อง อย่าปล่อยให้เขาอยู่ตามลำพังหรือทำอะไรตามลำพังเพราะจะมีปัญหาหลายอย่างตามมา โดยเฉพาะถ้าฮอร์โมนเพศเริ่มทำงาน เขาอาจจะมีความก้าวร้าวทางเพศหรือเสพติดทางเพศได้ง่าย เพราะว่าเขาจะไม่สามารถควบคุมตัวเองในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องเพศเขาจะควบคุมตัวเองไม่ได้ เพราะฉะนั้นเด็กที่เป็นออทิสติกจำนวนหนึ่งจะมีปัญหาเรื่องเพศมาก ถ้าเป็นเด็กผู้ชายก็อาจจะก้าวร้าวหรือคุกคามทางเพศ หรือมีความสนใจจะมีเพศสัมพันธ์กับเพศตรงข้ามโดยง่าย

     8. ลดปัจจัยเร้าหรือกระตุ้นอารมณ์เพศของเด็กกลุ่มนี้ ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่นเพราะถ้าเขาถูกกระตุ้นเร่งเร้าแล้วเขาควบคุมตัวเองไม่ได้ เขาจะรู้สึกดีเมื่อมีสัมผัสทางเพศ ถ้ารู้สึกดีเขาก็จะหมกมุ่นทางเพศและเรื่องนี้เขาจะมีสมาธิยาวกว่าเรื่องอื่นด้วยเพราะมีแรงขับทางเพศอยู่ในตัว หากมีปัจจัยเร้าเพิ่มเข้ามาด้วยจะแก้ไขยากเพราะความบกพร่องของสมองส่วนหน้าทำให้เขาปราศจากความยับยั้งชั่งใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

     9. ถ้าเด็กเล่นคอมพิวเตอร์ พ่อแม่ต้องควบคุมด้วยการใช้โปรแกรมควบคุมการเข้าอินเตอร์เน็ต ต้องคอยระวังไม่ให้เด็กได้สัมผัสเรื่องความรุนแรงและเรื่องเพศ

     10. ทำความเข้าใจกับชุมชน ผมไม่แนะนำให้พ่อแม่เด็กเก็บลูกไว้กับบ้านอย่างเดียว เพราะกลัวจะไปมีปัญหา ควรจะทำความเข้าใจกับเด็กในชุมชน หาโอกาสให้เด็กไปเล่น หรือคบหากับเด็กในชุมชนบ้างโดยที่เราต้องติดตามไปดูแล

     11. ในเรื่องการเรียน พ่อแม่ต้องตรวจสอบดูระบบโรงเรียนด้วยว่า โรงเรียนสามารถจะรองรับเด็กกลุ่มนี้ได้ไหม เช่น มีมาตรการพิเศษในการติดตามดูและเด็กกลุ่มนี้ และต้องดูว่าในโรงเรียนมีคุณครูที่ได้รับการอบรมมาเพื่อดูแลเด็กกลุ่มนี้หรือไม่ เพราะเด็กกลุ่มนี้มักจะมีปัญหาด้านพฤติกรรมซึ่งแบ่งเป็น 2 ทาง

            11.1. เด็กอาจจะเป็นเป้าหมายในการรังแกของเด็กอื่น

            11.2. เด็กอาจจะไปรังแกเด็กอื่นเพราะควบคุมพฤติกรรมตัวเองไม่ได้

     เพราะฉะนั้นการดูแลเด็กเหล่านี้จะต้องมีความรู้ความเข้าใจพอสมควรที่จะทำให้เขาไม่ถูกรังแก ขณะเดียวกันก็สามารถป้องกันไม่ให้เขาไปรังแกเด็กอื่น เพราะฉะนั้นการเลือกโรงเรียนสำคัญมากสำหรับเด็กกลุ่มนี้ และแม้ว่านโยบายของกระทรวงศึกษาธิการจะมีอยู่ว่าให้เด็กเหล่านี้เรียนร่วมกับเด็กปกติ แต่พ่อแม่ต้องดูว่าอาจไม่มีกลไกที่จะช่วยเหลือให้โรงเรียนทั่วไปมีความสามารถในการดูและเด็กกลุ่มนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้จะเกิดอันตรายมากในการเอาเด็กไปไว้ในโรงเรียนปนกับเด็กปกติ โดยที่เด็กมีปัญหาอาจจะถูกต่อต้านจากนักเรียนคนอื่น และผู้ปกครองเพราะเด็กไปรังแกเด็กอื่น ปรากฏการณ์นี้มักเกิดขึ้นเป็นประจำ ในขณะเดียวกันพ่อแม่ของเด็กก็อาจจะรู้สึกแย่มากที่นักเรียนอื่นในโรงเรียนรุมกันรังแกลูก ลูกเองก็อยู่ในสภาพย่ำแย่ในแง่จิตใจ เพราะฉะนั้นการเลือกโรงเรียนเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ต้องพิจารณาโดยรอบคอบและเมื่อเลือกโรงเรียนแล้ว จะต้องพูดคุยกับคุณครูที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่ามีข้อควรระวังอะไรบ้างเกี่ยวกับเด็กคนนี้ มีเงื่อนไขอะไรบ้างที่ต้องดูและเด็กคนนี้ เช่น การกินยา รวมทั้งนำเอาวิธีการแนะนำของแพทย์มาบอกคุณครูด้วย


ที่มา : วารสารทอฝันปันรัก มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก