Custom Search

วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554

โรคลมชัก เกร็ง ไม่รู้สึกตัว เหม่อ ชั่วขณะ

     อาการชักที่เกิดจากโรคลมชัก มีหลายลักษณะด้วยกัน รวมทั้งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมชักก็มีมากมายหลายสาเหตุ ดังนั้นเพื่อให้ผู้อ่านได้รับทราบข้อมูลในเรื่องนี้  “X-RAY สุขภาพ”  จึงมาพูดคุยกับ รศ.น.พ.อนันต์นิตย์ วิสุทธิพันธ์ หัวหน้าหน่วยประสาทวิทยาภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี      รศ.น.พ.อนันต์นิตย์ กล่าวว่า โรคลมชัก เป็นความผิดปกติของสมองอย่างหนึ่ง เกิดจากการที่สมองเสียการทำงานไปชั่วขณะเกิดการปลดปล่อยกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติออกมาชั่วครู่ทำให้ผู้ป่วยแสดงอาการชักออกมา ซึ่งมีหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น ชักกระตุก เกร็งไปทั้งตัว หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าลมบ้าหมู ซึ่งเป็นอาการชักที่รุนแรง ผู้ป่วยจะแสดงอาการเกร็งทั้งตัว ตาเหลือก กัดฟัน น้ำลายไหล บางคนชักแบบเหม่อ ตาค้าง หรือชักแบบทำอะไรโดยไม่รู้สึกตัว เช่นอาจจะมีพฤติกรรมแปลก ๆ เป็นระยะเวลาสั้น ๆ จำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้      แต่ปัญหาคืออาการที่เกิดในบางครั้งไม่ใช่อาการชักที่เกิดขึ้นในบางครั้ง และถึงแม้ว่าจะเป็นการชักจริงก็ไม่ได้เกิดจากโรคลมชัก แต่อาจจะเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ หรือเป็นโรคอื่น ๆ สาเหตุของโรคลมชักเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม เกิดจากการที่มีรอยโรคในสมองที่อาจจะเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ และมีอีกกลุ่มที่เกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ

ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่


     ในผู้ใหญ่โดยมากมักจะมีสาเหตุจากความผิดปกติในสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง เส้นเลือดในสมองตีบ ขอด จากการที่เลือดออกในสมองหรือเคยมีเลือดออกในสมอง สมองฝ่อ การติดเชื้อในสมอง แต่โรคลมชักในเด็ก ส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ เด็กบางคนอาจเกิดจากการติดเชื้อระหว่างการตั้งครรภ์ หรือระหว่างตั้งครรภ์มีการตกเลือด คลอดยาก ซึ่งเด็กที่เป็นโรคลมชักจากสาเหตุเหล่านี้มักจะมีพัฒนาการด้านร่างกายและสมองผิดปกติตามมาด้วย นอกจากนี้สภาพแวดล้อมบางอย่างก็สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้ เช่น แสงไฟ วูบ ๆ วาบ ๆ เป็นจังหวะ ๆ เป็นต้น     ประเด็นหนึ่งที่ต้องแยกแยะออกมา เด็กที่มีอาการชักซึ่งมิใช่โรคลมชักคือ อาการชักที่เกิดร่วมกับการมีไข้ พบได้ในเด็กอายุประมาณ 5 เดือนไปจนถึง 5-6 ขวบ อาการชักที่เกิดมักจะเป็นอาการชักกระตุกเกร็งทั้งตัวเป็นระยะเวลาสั้น ๆ 2–3 นาที ในวันแรกที่เกิดมีไข้สูง มักจะเป็นเด็กที่ปกติแข็งแรงดี มีพัฒนาการปกติ อาจจะมีประวัติครอบครัวหรือมีญาติพี่น้องที่มีอาการเช่นเดียวกันนี้ อาการชักในลักษณะเช่นนี้อาจจะเกิดซ้ำ ๆ ได้อีกหลาย ๆ ครั้ง และจะไม่เกิดอาการอีกภายหลังอายุ 6 ขวบ และจะไม่อันตรายต่อสมองหรือพัฒนาการใด ๆ     ที่สำคัญคือ ในบางครั้งการติดเชื้อที่สมองหรือเยื่อหุ้มสมองซึ่งเด็กจะมีไข้ร่วมอาจจะทำให้เกิดอาการชักได้ ดังนั้นในบางครั้งแพทย์จะต้องทำการตรวจวิเคราะห์น้ำไขสันหลังซึ่งจะช่วยในการวินิจฉัยการติดเชื้อเหล่านี้ได้     ในการวินิจฉัยโรคลมชัก จะอาศัยการซักประวัติเป็นหลัก รวมทั้งการตรวจร่างกาย การตรวจคลื่นสมอง จะช่วยในการยืนยันโรคหรือช่วยในการติดตามดูแลคนไข้ เช่นนำผลการตรวจคลื่นสมองมาใช้ในการพิจารณาหยุดยากันชัก     ดังนั้นการตรวจคลื่นสมอง มิใช่ว่าต้องทำทุกราย ในกรณีที่ไม่สามารถตรวจได้ก็ไม่เป็นไร แพทย์สามารถให้การรักษาได้โดยการวินิจฉัยจากประวัติและอาการชักที่เกิด แต่ถ้าทำได้จะทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มขึ้น

     เนื่องจากโรคลมชักในเด็กมักจะไม่มีสาเหตุ ดังนั้นโอกาสที่จะรักษาหาย และหยุดยากันชักมีมากกว่าผู้ใหญ่ ถ้าเป็นผู้ใหญ่ส่วนมากต้องกินยาและรักษาอย่างต่อเนื่อง แต่ในเด็กถ้ากินยาต่อเนื่องควบคุมอาการได้ มีโอกาสสามารถหายขาดได้สูงกว่า
     ในการรักษาโรคลมชักส่วนใหญ่จะใช้การรักษาด้วยยาเป็นหลัก นอกจากบางคนที่อาจจะไม่ต้องกินยากันชักแต่ใช้วิธีการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่มากระตุ้นอาการชัก แต่จะมีคนป่วยจำนวนหนึ่งที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยากันชัก อาจต้องใช้การรักษาด้วยวิธีการอื่น ๆ อย่างอื่น เช่น การผ่าตัด การให้สารอาหารเฉพาะบางชนิด การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้ากระตุ้นเส้นประสาทสมอง

     สำหรับการเลือกใช้ยากันชักในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ ปัจจัย เช่น ลักษณะอาการชัก เพศ อายุ ความสะดวกในการกินยา ราคาของยา ซึ่งแพทย์จะมีแนวทางเลือกยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน โดยผู้ป่วยจะต้องกินยาอย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำ มิใช่กิน ๆ หยุด ๆ การที่ต้องกินยาต่อเนื่องก็เพื่อเป็นการป้องกันการชักซ้ำ และเพื่อเป็นการรักษาให้หายจากโรค
     โดยทั่วไป ถ้าไม่มีสาเหตุเฉพาะหรือเป็นโรคลมชักเฉพาะชนิด ถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการชักในช่วงที่กินยาต่อเนื่องเป็นเวลา 2-3 ปีแล้ว แพทย์ก็จะพิจารณาให้หยุดยากันชัก แต่ถ้าอาการชักนั้น ๆ เป็นโรคลมชักมีสาเหตุเช่นเกิดจาก โรคเนื้องอกในสมอง โรคเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก โอกาสที่จะรักษาหายมีน้อย ก็อาจจะต้องกินยายาวนานขึ้น     คนทั่วไปมักเข้าใจผิดคิดว่ายากันชักจะไปกดสมอง ทำให้โง่ ในความเป็นจริงแล้วยาแต่ละชนิดมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ยากันชักสามารถช่วยควบคุมและรักษาโรคลมชัก แต่ก็มีบางชนิดที่อาจทำให้เกิดการง่วงซึมได้ แต่เป็นเพียงชั่วคราวชั่วขณะเท่านั้น ยาไม่ได้กดสมองไม่ได้ทำให้คนกินโง่ เพียงแต่บางชนิดอาจจะทำให้คิดช้า หรืออาจทำให้เซื่องซึมในระยะต้น ๆ บางชนิดอาจจะทำให้สมาธิไม่ค่อยดี ซึ่งอาจจะเป็นชั่วคราว มีบางรายเท่านั้นที่จะต้องเปลี่ยนไปใช้ยาชนิดอื่น ๆ     ที่สำคัญคือยากันชักทุกชนิดอาจจะทำให้เกิดอาการแพ้ยาได้ แต่เกิดได้ไม่บ่อย ดังนั้นในกรณีที่แพทย์พิจารณาแล้วว่าจะต้องกินยากันชักต่อเนื่องจะต้องมีการติดตามการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง     อนึ่งยากันชักอาจจะทำให้เกิดผลเสียต่อบุตรในครรภ์ของสตรีมีครรภ์ และเป็นโรคลมชัก ดังนั้นก่อนที่สตรีที่เป็นโรคลมชักจะตัดสินใจตั้งครรภ์ควรจะต้องปรึกษาแพทย์ก่อนทุกคน     รศ.น.พ.อนันต์นิตย์ บอกว่า โรคลมชักส่วนใหญ่ไม่ได้อันตรายอย่างที่คิด สามารถรักษาให้หายขาดได้ การเสียชีวิตจากอาการชักมีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการชักมากกว่า เช่น ศีรษะกระแทกพื้น หรือเกิดการสำลักจนทำให้ปอดอักเสบ ติดเชื้อ ดังนั้นคนที่เป็นโรคนี้อย่าคิดว่าเป็นปมด้อย หลายคนที่เป็นโรคลมชักก็สามารถเรียนจบปริญญาโท ปริญญาเอกได้ แพทย์บางคนก็เป็นโรคลมชัก     สิ่งที่พึงระวังคืออาการชักอาจจะถูกกระตุ้นให้เกิดได้จากการที่ร่างกายพักผ่อนไม่พอเพียง จากการอดนอน หรือจากสารกระตุ้นเช่นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือกาเฟอีน นอกจากนี้ควรจะหลีกเลี่ยงทำกิจกรรมบางอย่างที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายการว่ายน้ำคนเดียว การปีนป่ายที่สูง การขับขี่ยานพาหนะ การใช้เครื่องจักรที่เป็นอันตราย หรือการเล่นกีฬาที่อาจจะเกิดภยันตรายต่อศีรษะและสมอง