Custom Search

วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การฝึกพูดสำหรับเด็กออทิสติก

เรียบเรียงโดย ลัดดาวัลย์  นาขันที

          ความสามารถในการรับรู้และเข้าใจคำพูดตลอดจนการพูดสื่อความหมาย เป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กออทิสติก   ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการทางภาษา และการพูดเมื่อถึงวัยอันสมควร ก่อให้เกิดความวิตกกังวลแก่บรรดาบิดามารดา  ผู้เกี่ยวข้องและผู้อยู่ใกล้ชิดเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามจะต้องคำนึงถึงกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดความสามารถในการพูดสื่อความหมายของเด็กปกติเสียก่อน บิดามารดาและผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กถือว่าเป็นบุคคลสำคัญอย่างมากในการสอนพูดเด็กต้องแสดงให้เด็กเห็นความสำคัญของการพูด กระตุ้นให้เด็กสนใจการพูด โดยใช้กิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้การพูด เช่น การกระตุ้นด้วยของเล่นที่มีเสียง การพูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ  ในชีวิตประจำวัน สอนให้เด็กเรียกชื่อสิ่งของที่คุ้นเคย ชื่ออวัยวะของร่างกาย ทำท่าประกอบเพลง  เล่านิทานจากภาพ ฯลฯ ทุกอย่างที่กล่าวมาเด็กต้องได้รับการกระตุ้นอย่างต่อเนื่องและกระทำอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้การฝึกพูดได้ผลดี พัฒนาการทางภาษา และการพูดของเด็กออทิสติก   จัดระดับความสามารถของการพูดและการใช้ภาษาไว้  10  ระดับ
เรียงจากน้อยไปหามากดังนี้


ระดับ
การแสดงออก
1
-  เงียบเฉย ไม่ออกเสียง
- ร้องไห้บ้าง ไม่มาก
- ส่งเสียงเมื่อไม่สบายบ้าง
2
- ออกเสียงบ้าง แต่เป็นเสียงเดียวซ้ำ
- ส่งเสียงเบาๆในคอ ส่งเสียงดัง เค้นเสียง กรีดร้องเมื่อตื่นเต้นตกใจ
- ส่งเสียง อา อี มากขึ้น    แต่เป็นเสียงที่มีระดับเดียวกันเสมอต้นเสมอปลาย
3
- เปลี่ยนความดังและระดับเสียงได้มากขึ้น
- ส่งเสียงเป็นทำนอง
- ออกเสียงพยัญชนะ ค / ล / ก / บ / ประกอบสระอูได้ดี
- ออกเสียงเป็นทำนองซ้ำๆ
- ส่งเสียงอ้อแอ้ขณะอยู่ตามลำพัง
- หัวเราะเองไม่มีเหตุ
4
- ส่งเสียงอ้อแอ้มากขึ้น
- ออกเสียงพยางค์เปิด (พยัญชนะผสมสระ)เช่น  มา ปู  ปี  ฯลฯ  บ่อย ๆ
- เริ่มมีการออกเสียงวลีซ้ำๆ
5
- ออกเสียงเลียนแบบตัวอย่างที่เคยได้ยินมาก่อน
- เลียนแบบเสยงคำพูดบ่อยมากขึ้น
6
- ส่งเสียงคำที่ไม่มีความหมายบ่อยมาก
- ส่งเสียงคล้ายคำพูด แต่ฟังไม่ออกว่าเป็นภาษาอะไร แทนความหมายใดๆ
7
- เริ่มบอกชื่อ สิ่งของต่าง ๆ ที่ใช้บ่อยได้ถูก
- บอกชื่อบุคคล สมาชิกในครอบครัวได้ถูกต้อง
8
- ออกเสียงเป็นประโยคที่ประกอบด้วยคำ 3 คำได้ถูก (ใช้ถูกความหมาย)
- เรียกชื่อตนเองได้ถูกต้อง
9
- ใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 แทนตัวเองได้ถูกต้องและคล่อง
10
- ออกเสียงประโยคยาว ๆ สื่อความหมาย และโต้ตอบได้ถูกต้อง


          ความหมายในการแสดงออกทางการพูดตามระดับต่าง ๆ สามารถกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการมากขึ้นมาได้ทุกระดับ ไม่จำกัดอายุ  และระยะเวลา ความสามารถในการพูดสื่อ ความหมายจะมีมากน้อยนั้น ส่วนหนึ่งก็ต้องอาศัยจำนวนศัพท์ที่เรียนรู้ และความสามารถในการเชื่อมโยงความหมายให้เหมาะสมกับสถานการณ์

          ข้อควรปฏิบัติที่จะช่วยให้เด็กออทิสติกพูดได้เหมาะสมตามวัย
     1. พยายามพูดกับเด็กเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กกำลังมองหรือกำลังกระทำอยู่   เช่น   เห็นเด็กกำลังมองพัดลมควรพูดกับเด็กทันทีช้า ๆออกเสียงให้ชัดเจน ว่า   “พัด ลม”    “พัด ลมเพื่อเป็นการสร้างเป้าหมายในการมองอย่างมีความหมาย
     2. ขณะที่มีเสียงหนึ่งเสียงใดเกิดขึ้นรอบตัว  เช่น   เสียงหมาเห่า ควรชี้ชวนให้เด็กสนใจฟังอย่างสม่ำเสมอ  เพื่อเป็นการสร้างเปาหมายในการฟังให้มีความหมาย
     3. ขณะที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งให้กับเด็ก จงพูดให้เด็กฟังถึงสิ่งที่ท่านกำลังทำอยู่  เช่น ขณะที่กำลังใส่กางเกง ควรสอนให้เด็กได้เรียนรู้ว่าสิ่งต่างๆมีชื่อเรียกอย่างไร เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้คำศัพท์และเนื้อหาของคำศัพท์
     4. ควรสอนจากความเข้าใจคำศัพท์ ก่อนนำมาสู่การพูด
     5. ควรสอนเด็กให้พูดโดยใช้คำนามที่มองเห็นเป็นรูปธรรม  เช่น  เริ่มสอนเรียกพ่อ แม่ ชื่ออวัยวะ พร้อมทั้งจับมือแตะส่วนนั้นๆ
     6. ควรให้เด็กมีโอกาสเปล่งเสียงออกมาบ้าง    โดยสอนพูดนำแล้วเว้นระยะให้เด็กออกเสียง รอเวลาอย่าเร่งให้เด็กพูด
     7. ควรเป็นแบบอย่างในการพูดที่ดีให้แก่เด็ก คือ พูดให้ชัดเจน ใช้คำถูกต้อง
     8. อาจสอนโดยใช้โคลงกลอนหรือเพลง   เช่น   “ลูกเป็ดมันร้อง  (ก๊าบ ก๊าบ)   ลูกไก่มันร้อง (เจี๊ยบ เจี๊ยบ)   ลูกหมามันเห่า  (บ๊อก บ๊อก)   ลูกแมวมันร้อง  (เมี๊ยว เมี๊ยว)”    จะทำให้เด็กรู้สึกพอใจ สนุกที่จะเปล่งเสียงพูดได้
     9. เด็กบางรายอาจต้องใช้เทคนิคพิเศษเพื่อดึงความสนใจ และสร้างความพร้อมในการสอนภาษาและการพูด โดยเตรียมการมอง การฟังอย่างมีความหมาย ฝึกการเคลื่อนไหวปากลิ้น  การเปล่งเสียง

          การฝึกพูดเด็กออทิสติก
     เมื่อเด็กเริ่มมีความเข้าใจ และมีความพร้อมในการสอนพูด อาจใช้เทคนิคเพื่อช่วยให้เด็กนึกคำตอบและสามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ง่าย ดังนี้
     1. การพูดตาม เช่น
          ขั้นที่ 1 : ผู้สอนถาม นี่อะไรผู้สอนตอบ ปลา
          เด็กพูดตาม ปลา
          ขั้นที่ 2 : ผู้สอนถามซ้ำนี่อะไร
          เว้นระยะให้เด็กตอบ ปลา
     2. การพูดต่อคำ เช่น
          ขั้นที่ 1 : ผู้สอนถาม นี่อะไรผู้สอนตอบ กระต่าย
          เด็กพูดตาม กระต่าย
          ขั้นที่ 2 : ผู้สอนถาม นี่อะไรผู้สอนตอบนำคำแรก กระ……”
          เว้นระยะให้เด็ก  ต่อคำ “……..ต่าย
          ขั้นที่ 3 : ผู้สอนถามซ้ำนี่อะไร
          เด็กตอบซ้ำทั้งคำ กระต่าย
     3. การพูดต่อเสียง เช่น
          ขั้นที่ 1 : ผู้สอนถาม นี่อะไรผู้สอนตอบ หมา
          เด็กพูดตาม หมา
          ขั้นที่ 2 : ผู้สอนถาม นี่อะไรผู้สอนตอบนำเสียง อึม……” (ลากเสียง)
          เว้นระยะให้เด็กต่อเสียงให้เป็นคำ หมา
          ขั้นที่ 3 : ผู้สอนถามซ้ำนี่อะไร
          เด็กตอบซ้ำทั้งคำ หมา
     4. การเดาจากรูปปาก เช่น
           ขั้นที่ 1 : ผู้สอนถาม นี่อะไรผู้สอนตอบ ปาก
          เด็กพูดตาม ปาก
          ขั้นที่ 2 : ผู้สอนถาม นี่อะไรผู้สอนปิดริมปากแน่นขณะเด็กมองปาก
          เว้นระยะให้เด็กตอบ ปาก
          ขั้นที่ 3 : ผู้สอนถามซ้ำนี่อะไร
          เด็กตอบซ้ำ ปาก

          เทคนิคการช่วยเหลือในการฝึกพูด
     เทคนิคการช่วยเหลือในการฝึก เรียงจากง่ายไปยาก  ดังนี้
          1. ช่วยจับทำ
          คือ   เมื่อสั่งให้เด็กทำกิจกรรมใดๆ ก็ตามถ้าเด็กไม่แสดงการรับรู้      รับฟังหรือปฏิบัติตามคำสั่งไม่ได้     ให้จับมือทำกิจกรรมนั้นซ้ำๆ    โดยช่วยจับมือทำในทุกขั้นตอนที่ต้องการฝึก และพูดบอกเป็นระยะ   เพื่อเป็นการชักนำให้เด็กเกิดความเข้าใจ  และทำกิจกรรมตามคำสั่งหรือคำพูดได้
          2. แตะนำ
          คือ   การลดความช่วยเหลือจากการช่วยเหลือจากการช่วยจับทำลง โดยแตะหลังมือข้อมือ  หรือข้อศอกเด็ก   เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสทำกิจกรรมด้วยตนเองในขั้นตอนสุดท้าย
          3. เลียนแบบ
          คือ การลดความช่วยเหลือ   จากการแตะนำลงโดยทำให้เด็กดู   แล้วให้เด็กทำตามเป็นการสอนให้เด็กเรียนรู้ถึงการเลียนแบบตั้งแต่การเคลื่อนไหวร่างกายที่เห็นได้ชัดเจน  ไปจนถึงการเลียนแบบการพูดต่อไป
          4. ทำตามคำสั่ง
          คือ   เด็กสามารถเข้าใจคำพูดของผู้สอนและปฏิบัติตามคำสั่งได้ โดยไม่ต้องให้การช่วยเหลือข้างต้นใด ๆ  ซึ่งแสดงว่าเด็กมีความเข้าใจความหมายของคำพูด และมีความพร้อมที่จะฝึกการเปล่งเสียงพูดอย่างมีความหมายได้ต่อไป


เอกสารอ้างอิง
ศรีทนต์ บุญยานุกูล. ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา   คณะแพทยศาสตร์   มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
คู่มือฝึกพูดเด็กออทิสติกสำหรับผู้ปกครอง.โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ จังหวัดสมุทรปราการ .