Custom Search

วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2553


ทีวีให้อะไรกับลูกน้อย...

พรทิพย์ ซุ่นอื้อ พยาบาลวิชาชีพ กลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลตรัง

ขอบคุณ ภาพจากอินเทอร์เน็ต


ดิฉันได้มีโอกาสได้อ่านบทความของคุณแม่ท่านหนึ่งจากหนังสือรักลูก เธอได้เล่าประสบการณ์ที่ได้รับรู้ว่าลูกน้อยของเธอเป็นออทิศติก ซึ่งเกิดจากการเลี้ยงดูของเธอเอง ทำให้เกิดบทเรียนราคาแพง เนื่องจากลูกเป็นออทิสติกจากการดูทีวี แต่สุดท้ายเธอก็สามารถปรับวิธีการเลี้ยงดูลูกจนพัฒนาการของลูกดีขึ้น
ตัวเธอเองเริ่มแปลกใจจากการที่ลูกยังพูดไม่ได้ในวัย 1 ขวบ 6 เดือนเมื่อเปรียบเทียบกับลูกของเพื่อนที่อยู่ในวัยเดียวกัน ด้วยหัวใจของความเป็นแม่ เธอเริ่มรู้สึกเครียดและวิตกกังวลมาก พยายามหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกรณีการพูดช้าของเด็ก แต่ยิ่งอ่านหรือรู้มากเท่าไหร่ความเครียดก็ยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้นเท่านั้น เธอตัดสินใจพาลูกน้อยของเธอไปพบคุณหมอด้านพัฒนาการเด็กโดยตรงแห่งหนึ่ง คุณหมอสอบถามข้อมูลและพูดคุยกับลูกชายพร้อมหยิบของเล่นไม้ขึ้นมาเล่นประมาณ 3-4 ชิ้น ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง พร้อมบทสรุปว่า ลูกชายเป็นออทิสติก หัวใจของเธอเหมือนหยุดนิ่ง สมองเริ่มคิดไปต่างๆ นานา เธออดคิดไม่ได้ว่าคุณหมอวินิจฉัยลูกตนเองผิดไปหรือเปล่า เธอพยายามพาลูกไปพบหมออีก 3 แห่ง คุณหมอแต่ละแห่งมีวิธีการตรวจที่แตกต่างกัน คำตอบที่เธอได้รับจากคุณหมอทั้ง 3 แห่งคือ ลูกชายฉันแค่พูดช้า หรืออาจเป็น ออทิสติกเทียม ที่เกิดจากการเลี้ยงดูที่ผิดของตัวเธอ เธอบอกต่อว่า เพราะเธอเริ่มให้ลูกดูทีวีตั้งแต่อายุประมาณ 8 เดือน วันละประมาณ 2-3 ชั่วโมง เนื่องจากเห็นลูกยิ้มและหัวเราะ ดูเขามีความสุข ไม่ทันคิดว่าความเข้าใจผิดของเธอจะส่งผลกระทบอะไร มารู้ภายหลังว่าเป็นความคิดที่ผิดอย่างมาก

อยากจะบอกกับคุณพ่อ คุณแม่ทุกท่านว่า เด็กกับการดูโทรทัศน์ หรือทีวีที่เราเรียกกันนั้น มีทั้งประโยชน์ และโทษหรือผลกระทบที่มีต่อเด็ก ซึ่งทีวีมีอิทธิพลต่อเด็กตั้งแต่แรกเริ่มของชีวิต สามารถดึงความสนใจจากเด็กได้มากกว่าสิ่งอื่นๆ บ่อยครั้งที่พบว่าพ่อแม่ใช้ทีวีในการเลี้ยงดูลูก โดยเข้าใจผิดว่าทีวีสามารถพัฒนาการพูดของเด็กให้เร็วขึ้น เนื่องจากพ่อแม่สังเกตว่าเด็กจ้องมองภาพ พร้อมทั้งหยุดการเคลื่อนไหวทุกอย่างได้นานๆ ดูเหมือนเด็กกำลังสนใจดูทีวี แต่... สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ

เกิดอะไรขึ้นขณะดูทีวี


· - สิ่งที่เด็กสนใจมองจริงๆ คือ แสง สี เสียง โดยเฉพาะรายการโฆษณา ซึ่งมีการเปลี่ยนภาพเร็วมาก จะดึงดูดความสนใจได้มากที่สุด แต่เด็กจะไม่เข้าใจความหมายอะไรในทีวี นอกจากเป็นการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มากระตุ้นเท่านั้น


· - ในขณะที่เด็กใช้เวลาอยู่กับทีวีนั้น พบอัตราการเปล่งเสียงหรือเลียนเสียงน้อยมาก เนื่องจากทีวีเป็นการสื่อสารเพียงด้านเดียว (One-way communication) ซึ่งตามปกติการเรียนรู้ทางภาษาที่ดีนั้น ควรเรียนทางภาษาที่ดีนั้นควรเรียนจากการสื่อสาร 2 ด้าน (Two-way communication) หรือในลักษณะที่มีการโต้ตอบและมีปฏิสัมพันธ์กัน


· - การปล่อยเด็กเล็กให้อยู่กับทีวีนานๆ เป็นเหตุให้เด็กต้องทนฟังเสียงที่ไม่อาจจะเข้าใจได้อยู่ข้างเดียว พบว่าเด็ก 1 ใน 5 ของกลุ่มนี้จะยังพูดไม่ได้เมื่อถึงวัยอันควรด้วย


ในสิ่งไม่ดีก็ย่อมมีสิ่งดีๆ อยู่ด้วยเสมอ เพราะดูแล้วทีวีก็ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเสมอไปหรอกนะคะ สื่อโทรทัศน์ที่หลากหลายหากพ่อแม่ดูแลเอาใจใส่เวลาการดูทีวีของลูกอย่างใกล้ชิดก็สามารถใช้ทีวีเป็นสื่อที่มีคุณประโยชน์สำหรับเด็กๆ ได้เช่นกัน โดย...


1. การนั่งดูโทรทัศน์เป็นกิจกรรมที่สมาชิกทุกวัยในครอบครัวใช้เวลาร่วมกันได้
2. พ่อแม่ควรใช้โทรทัศน์เป็นตัวกระตุ้นให้เด็กฝึกหัดอ่านตามรายการโทรทัศน์จากหนังสือที่มีเนื้อเรื่องเหมือนกัน
3. รายการโทรทัศน์ที่ดีจะสอนเด็กให้เข้าใจถึงค่านิยมและบทเรียนในชีวิตที่สำคัญ
4. รายการโทรทัศน์มักจะนำเสนอเรื่องราวที่มีข้อขัดแย้งหรือประเด็นอ่อนไหวซึ่งเป็นโอกาสที่พ่อแม่และลูกได้มีโอกาสอภิปรายเกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านั้น
5. รายการโทรทัศน์ประเภทเพื่อการศึกษา เป็นสื่อในการเรียนรู้ทั้งด้านวิชาการและด้านสังคม
6. รายการข่าว เหตุการณ์รอบตัว และประวัติศาสตร์ จะช่วยให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมผู้คนในสังคมอื่น
7. บางครั้งโทรทัศน์ก็ฉายหนังคลาสสิคดีๆ จากต่างประเทศ หรือหนังเก่าดีๆ ที่อาจไม่มีให้เช่าในร้านวีดีโอ
8. รายการเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม ให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับโลกของดนตรีและศิลปะ

อย่างที่รู้กันนะคะว่า ทุกสิ่งบนโลกนี้ย่อมมีสองด้านเสมอ แล้วแต่ว่าเราจะเลือกที่จะใช้ จะทำ จะนำไปปฏิบัติด้านไหนก็เท่านั้นเอง ถึงอย่างไร พ่อแม่ ก็คือ เพื่อนเล่นและเป็นของเล่นชั้นดีให้กับลูกได้ การที่พ่อแม่ได้ร่วมเล่นกับลูก จะทำให้ลูกรู้สึกสนุก กระตือรือร้น มีสมาธิกับการเล่น และลูกยังได้ความภูมิใจ ความสุขที่มีพ่อแม่อยู่ด้วย และ ในวัย 2-3 ขวบแรกของชีวิต เด็กตัวเล็กๆ มีความสามารถที่จะเรียนรู้เกือบทุกสิ่งทุกอย่างได้ง่ายและรวดเร็ว โดยไม่รู้ตัว ความเพลิดเพลิน สนุกสนาน และกระหายที่จะเรียนรู้วิชา ทักษะ ไปพร้อมกับการละเล่นต่างๆ อย่างไม่สิ้นสุด ซึ่งหากการเรียนรู้นี้เกิดขึ้นในวัยเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว จะต้องใช้ความพยายามอย่างมาก บางสิ่งบางอย่างอาจจะไม่สามารถทำได้เลยก็ได้คะ



ไม่มีความคิดเห็น: