Custom Search

วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

แอสเพอร์เกอร์ซินโดรม (Asperger's Syndrome)

     แอสเพอร์เกอร์ (Asperger's Disorder) หรือที่เดิมเรียกว่า แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม (Asperger's Syndrome) เป็นความบกพร่องของพัฒนาการรูปแบบหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะตัว อยู่ในกลุ่มเดียวกับโรคออทิสติก (Autistic Disorder) แต่มีความแตกต่างกันในรายละเอียดอยู่บ้างพอสมควร

     แอสเพอร์เกอร์ซินโดรม คืออะไร
     แอสเพอร์เกอร์ซินโดรม เป็นความบกพร่องของพัฒนาการที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวรูปแบบหนึ่ง โดยบกพร่องในทักษะทางสังคม ร่วมกับมีพฤติกรรมหมกมุ่น ทำซ้ำๆ ไม่ค่อยยืดหยุ่น จนเกิดผลเสียต่อการดำรงชีวิต การเรียน การทำงาน และการเข้าสังคม ส่วนด้านการใช้ภาษา สามารถพูดคุยสื่อสารปกติ แต่ไม่เข้าใจลูกเล่น สำนวน มุกตลกต่างๆ มีระดับสติปัญญาปกติ ความจำดีแต่มีปัญหาในการประยุกต์ใช้
เป็นกลุ่มอาการที่คล้ายๆ ออทิสติก (อยู่ในกลุ่มการวินิจฉัยโรคที่เรียกว่า PDDs เหมือนกัน) แต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว คือพัฒนาการด้านภาษาจะดีกว่าออทิสติก และมีระดับสติปัญญาที่ปกติ หรือสูงกว่าปกติ ซึ่งปัจจุบันเปอร์เซ็นต์ของคนทั่วโลกที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ ออทิสติก และพีดีดี อื่น ๆ รวมกันจะอยู่ที่ประมาณ 1:1,000 และพบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้น พบว่ามีการทำงานของสมองบางตำแหน่งผิดปกติ แต่ยังบอกไม่ได้ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิด แม้ว่าจะมีงานวิจัยหลายชิ้นแต่ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนเสียทีเดียว แนวโน้มปัจจุบันเชื่อว่ามีความบกพร่องของสารพันธุกรรม ซึ่งความผิดปกติทางพันธุกรรมก็ยังบอกไม่ได้อีกเหมือนกันว่าเกิดจากการถ่ายทอดจากรุ่นต่อรุ่นค่อยๆ สะสมความผิดปกติมาจนแสดงออกในรุ่นหนึ่ง หรือว่าเป็นการกลายพันธุ์ของยีน ซึ่งยังต้องศึกษาวิจัยอีกระยะหนึ่งครับ
 
     พฤติกรรมที่สามารถสังเกตได้คืออะไร
     เด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ จะมีความบกพร่องของพัฒนาการด้านสังคมครับ เวลาพูดคุยจะไม่ค่อยมองหน้าสบตา ไม่ค่อยสนใจใคร เรียกก็ไม่หัน เล่นกับเด็กคนอื่นไม่ค่อยเป็น และไม่ค่อยรู้กาลเทศะ แสดงออกไม่เหมาะสมบ่อยๆ ร่วมกับมีพฤติกรรมความสนใจซ้ำๆ จำกัดเฉพาะเรื่อง เช่น ถ้าเขามีความสนใจอะไรก็จะสนใจมากๆ ถึงขั้นที่เรียกว่าหมกมุ่นก็ว่าได้ และเรื่องที่เขาสนใจก็อาจจะเป็นเรื่องที่คนอื่นไม่สนใจ เช่น เด็กบางคนจะชอบดูโลโก้สินค้า เห็นที่ไหนก็จะดู จะถาม และจำได้แม่นยำ บางคนชอบดูยี่ห้อของพัดลมว่ายี่ห้ออะไร เวลาไปเห็นพัดลมที่ไหนก็จะมุ่งตรงไปดูยี่ห้อก่อน เป็นต้น
ปกติเวลาที่พบเจอกันก็จะมีการทักทายกัน มีการพูดคุยเล็กๆ น้อยๆ ก่อนจะเข้าเรื่อง แต่สำหรับคนที่เป็นแอสเพอร์เกอร์พอเจอปุ๊บอยากถามอะไร อยากรู้อะไร ก็จะพูดโพล่งออกมา ไม่มีการทักทาย ไม่มีการเกริ่นนำ จะถามเรื่องที่สนใจโดยไม่เสียเวลา
     การพูดจาหรือการทำอะไรบางอย่างที่ไม่เหมาะสม เช่น เวลาเขาเห็นอะไรหรือรู้สึกอะไร อยากได้อะไร เขาก็จะบอกตรงๆ ซึ่งบางสถานการณ์อาจจะไม่เหมาะสม อาจจะทำให้คนอื่นเกิดความไม่พอใจ เช่น มีเด็กคนหนึ่งอยู่โรงเรียน เขาเห็นแม่คนหนึ่งกำลังดุลูก เขาก็จะเข้าไปบอกทันทีว่า “ไม่ควรดุลูกนะครับ คุณแม่ควรพูดจาเพราะๆ กับลูก” ก็อาจจะทำให้คนอื่นรู้สึกไม่พอใจได้ หรือกินข้าวร้านนี้แล้วมันไม่อร่อย เวลาเดินผ่านทีไรก็จะพูดดังๆ ขึ้นมาตรงนั้นเลยว่า “ข้าวร้านนี้ไม่อร่อย” ซึ่งถามว่าสิ่งที่เขาทำถูกต้องหรือเปล่า ก็ถูกในแง่มุมของความรู้สึกของเขา แต่ไม่เหมาะสมในแง่มุมความรู้สึกของคนอื่น สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาตามมา
     ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ คือคนรอบข้างไม่เข้าใจ ตรงนี้ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ของคุณพ่อคุณแม่ด้วย เพราะมักจะถูกตำหนิ คนอื่นจะมองว่าพ่อแม่ไม่สั่งสอน ไม่บอก ทำให้เด็กไม่รู้กาลเทศะ ทั้งที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็พยายามสอนเต็มที่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่ตัวเด็กด้วยว่าเขาไม่เข้าใจ



 
     แอสเพอร์เกอร์กับออทิสติกแตกต่างกันอย่างไร
     แอสเพอร์เกอร์กับออทิสติกนั้นอาจจะมีลักษณะคล้ายกันมาก แต่จุดที่แตกต่างกันคือเรื่องของภาษา ถ้าเป็นออทิสติกจะมีปัญหาด้านภาษาที่ชัดเจนกว่า คือ พูดช้า พูดไม่ชัด พูดเป็นภาษาของตัวเองมากๆ แต่แอสเพอร์เกอร์พัฒนาการด้านภาษาจะปกติ พูดคุยสื่อสารได้รู้เรื่อง เพียงแต่ลูกเล่นของภาษาที่มีปัญหา จะไม่เข้าใจความหมายลึกๆ ที่แฝงอยู่ ไม่เข้าใจนัยของภาษา เช่น ไม่เข้าใจมุกตลก คำเปรียบเทียบ ประชดประชันต่างๆ เขาจะเข้าใจในลักษณะตรงไปตรงมาตามตัวอักษร ไม่มีสีสันของภาษา ไม่มีลูกเล่นของคำ เป็นต้น
     แต่ก็จะมีบางอย่างที่คล้ายๆ กับออทิสติก เช่น เรื่องการไม่ค่อยสบตา ชอบแยกตัวอยู่คนเดียว เข้ากับเพื่อนไม่ค่อยได้ เวลาพูดก็จะพูดเฉพาะเรื่องที่ตัวเองสนใจ โดยไม่ได้สังเกตดูว่าคนที่เขาฟังอยู่นั้นจะสนใจหรือเปล่า คือเขาจะมีลักษณะที่ไม่ระวังในเรื่องของทักษะทางสังคม ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเพราะว่าเขาไม่เข้าใจ แต่ในด้านของสติปัญญาเด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์จะมีระดับสติปัญญาในระดับปกติหรือสูงกว่าปกตินะครับ
 
ข้อมูลจาก : ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. เมื่อลูกเป็นแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม. [Online] 2549; Available from: URL: http://www.happyhomeclinic.com/au28-aspergersyndrome.htm

ไม่มีความคิดเห็น: