Custom Search

วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

แอสเพอร์เกอร์ซินโดรม (Asperger's Syndrome) ต่อ

     จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเราเป็นแอสเพอร์เกอร์
     แอสเพอร์เกอร์เป็นปัญหาที่เด็กมีมาตั้งแต่เกิด แต่ช่วงเล็กๆ จะดูยากมาก เพราะลักษณะภายนอกเด็กจะดูเหมือนปกติ หน้าตาน่ารัก ไม่มีอะไรที่บ่งชี้เลยว่าจะมีปัญหา ข้อที่ชวนสงสัย คือ สังเกตว่าเด็กไม่ค่อยตอบสนอง เวลาอุ้มจะไม่อยากให้อุ้ม เวลาเล่นด้วยไม่ค่อยเล่นด้วย ไม่ค่อยโต้ตอบ ไม่สบตา ไม่ยิ้มตอบ หรือท่าทีดีใจเวลามีคนเล่นด้วย มีพฤติกรรมบางอย่างที่แตกต่างจากเด็กคนอื่น
     สำหรับพ่อแม่สิ่งที่ยากก็คือ ถ้าพ่อแม่ที่ไม่เคยมีลูกมาก่อนจะไม่รู้ถึงความแตกต่าง แต่ถ้าพ่อแม่ที่เคยมีลูกมาแล้ว 1-2 คน อาจจะเห็นความแตกต่างบางอย่าง แต่ก็เป็นเพียงการสงสัยยังไม่ชัดเจน จะชัดเจนก็ต่อเมื่อ 1-2 ขวบขึ้นไป ถ้าไม่คุ้นเคยจะแยกความแตกต่างค่อนข้างยาก คือต้องอาศัยประสบการณ์ด้วย เพราะมันมีจุดที่เหลื่อมที่แตกต่างกัน ไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างแอสเพอร์เกอร์กับคนปกติที่มีปัญหาเรื่องบุคลิกบางอย่างที่ไม่เหมาะสม หรือว่าในบางรายที่เป็นแอสเพอร์เกอร์กับออทิสติกที่มีความสามารถสูงๆ ก็ยังแยกกันยาก
     ดังนั้นการพามาพบหมอจึงค่อนข้างช้า ซึ่งมักจะพามาพบก็ต่อเมื่อเกิดปัญหามากแล้ว เช่น เด็กเข้ากับเพื่อนไม่ได้ อยู่ในระเบียบไม่ได้ ไม่ทำตามคำสั่ง นั่งนิ่งไม่ได้ เล่นรุนแรง เป็นต้น เด็กที่มาตรวจส่วนใหญ่ก็จะเป็นช่วงวัยที่โตขึ้นมา เพราะพ่อแม่จะเริ่มเห็นความแตกต่างจากเด็กคนอื่นชัดเจนขึ้นเมื่อลูกไปโรงเรียน อยู่บ้านจะไม่มีอะไรเปรียบเทียบเลย แค่เริ่มสงสัยก็สามารถพามาตรวจประเมินได้ เพราะรู้เร็ว แก้ไขเร็ว ย่อมได้ผลดีกว่า ในการประเมิน หมอจะพิจารณาประวัติทุกด้านตั้งแต่เล็กๆ เลย และสังเกตพฤติกรรมบางอย่างประกอบกัน ดูว่าเข้าเกณฑ์ของแอสเพอร์เกอร์หรือเปล่า ถ้าใช่ก็ต้องช่วยเหลือให้เร็วที่สุดเช่นกัน อย่ากลัวที่จะรู้ว่าลูกเป็นอะไร แต่การที่ลูกเสียโอกาสที่จะได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสมเป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่า
     โดยในเบื้องต้นจิตแพทย์เด็กจะประเมินดูก่อนว่าเด็กควรจะต้องตรวจเพิ่มเติมอะไร และไปฝึกกับใครบ้าง เช่น ไปพบนักกิจกรรมบำบัดเพื่อฝึกสมาธิ ทักษะสังคม ฝึกพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหว (เด็กบางคนเวลาเคลื่อนไหวจะดูเก้งก้าง หรือว่าการหยิบจับจะไม่ค่อยคล่อง ไม่ค่อยถนัด แต่ไม่ถึงกับว่าเดินไม่ได้ หยิบจับไม่ได้ มักเป็นเรื่องของการประสานกันของกล้ามเนื้อมากกว่า) หรือไปพบนักจิตวิทยาเพื่อปรับพฤติกรรม กระตุ้นพัฒนาการ หรือทำทั้งสองอย่าง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กเป็นสำคัญ
     ในการดูแลเด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์นั้น เด็กแต่ละคนจะได้รับการดูแลไม่เหมือนกัน เพราะเด็กจะมีปัญหาเฉพาะที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นการวางแผนการดูแลจะเริ่มต้นที่ว่าเด็กมีปัญหาอะไร ก็ต้องแก้ตรงนั้น เด็กยังขาดอะไรก็ต้องเสริมตรงนั้น
เด็กบางคนอาจจะมีปัญหาสมาธิสั้นร่วมด้วย ซึ่งสมาธิสั้นจะพบร่วมได้ในหลายๆ โรค ถ้าเป็นสมาธิสั้นอย่างเดียวไม่มีโรคอื่นเราจะเรียกว่าเป็นโรคสมาธิสั้น แต่ถ้าสมาธิสั้นร่วมกับออทิสติกหรือแอสเพอร์เกอร์ ก็จะเรียกตามโรคหลักของเด็ก เด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์เกือบครึ่งจะมีปัญหาสมาธิสั้น
 
     แล้ววิธีแก้ไขจะทำได้อย่างไร
     ทุกคนในครอบครัวถือว่ามีบทบาทสำคัญที่จะต้องมาช่วยกันดูแล ต้องมานั่งคุยกันว่าใครจะช่วยเหลือเด็กเรื่องอะไรบ้าง จะต้องทำความเข้าใจกับปัญหาแล้วก็ต้องศึกษาวิธีที่จะแก้ปัญหา เรียนรู้ทักษะต่างๆ ในการแก้ปัญหาจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ในขณะเดียวกันก็จะต้องถ่ายทอดความรู้ตรงนี้ไปสู่คนอื่นๆ ในครอบครัว
     วิธีแก้ไขต้องอาศัยความช่วยเหลือจากหลายๆ ฝ่ายครับ ทั้งทางครอบครัว ทางการแพทย์ ทางการศึกษา และสังคมรอบข้าง ขั้นแรกเราจะต้องเข้าใจสภาพปัญหาของเด็กก่อน ไม่ใช่เพราะเด็กไม่สนใจ หรือนิสัยไม่ดี แต่เป็นเพราะเด็กไม่เข้าใจ คือต้องเรียนรู้ธรรมชาติของโรคว่าคืออะไร ปัญหามีอะไรบ้าง พอเข้าใจธรรมชาติของโรคแล้ว ก็สอนให้เขาเรียนรู้ด้วยวิธีการที่เข้มข้นขึ้น และอะไรที่ขัดขวางการเรียนรู้ก็ต้องพยายามแก้ไข เช่น ในกรณีที่เด็กสนใจอะไรบางอย่างที่เรียกว่าหมกมุ่นมากเกินไปไม่สนใจอย่างอื่นเลย ก็ต้องพยายามดึงออกมา บางอย่างที่มีประโยชน์ก็ต้องเสริม ยกตัวอย่างเช่น เด็กบางคนจะชอบสะสมขวดแชมพู ขวดยา ซึ่งเป็นการสะสมที่ไม่เกิดประโยชน์ หรือชอบดูพัดลมหมุนๆ ชอบดูโลโก้สินค้า ก็ต้องดึงเด็กออกมาแล้วหากิจกรรมอย่างอื่นเสริม แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เกิดประโยชน์ เช่น ชอบไดโนเสาร์ พ่อแม่สามารถสอนเรื่องอื่นสอดแทรกไปได้ เช่น เรื่อง ชีววิทยา ธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ เป็นต้น กล่าวคือเน้นการใช้เรื่องที่เขาสนใจเป็นฐานแล้วก็ขยายความสนใจออกไป เพื่อให้เด็กสามารถเรียนรู้ในเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติมได้
     ทักษะสังคมเป็นเรื่องที่ต้องคอยสอนคอยชี้แนะอยู่ตลอด และต้องสอนกันเกือบทุกเรื่อง เช่น เวลาเจอเพื่อนจะทักทายอย่างไร อยากเข้าไปเล่นกับเพื่อนต้องทำอย่างไร อย่าไปคาดหวังว่าเดี๋ยวก็รู้เอง แต่ถ้าสอนแล้วเด็กจะทำได้ในที่สุด


     รู้แล้วต้องตั้งรับอย่างไร
     คงต้องทำความเข้าใจกับปัญหาก่อน คือทำความเข้าใจว่าปัญหาเกิดจากอะไร แล้วก็ยอมรับว่ามันเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ ให้เชื่อว่าสิ่งที่ลูกเป็นสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันชัดเจนว่า เด็กที่เข้ากระบวนการดูแลช่วยเหลืออย่างเหมาะสม กับเด็กที่ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการ มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ทั้งแง่ของการพัฒนาทางด้านสังคม หรือการเรียนรู้ เพราะเด็กที่ได้รับการช่วยเหลือเขาสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเอง เรียนถึงระดับมหาวิทยาลัยหรือสูงกว่า ดังนั้นต้องเชื่อมั่นด้วยว่าเป็นปัญหาที่จัดการได้ และถ้าพ่อแม่ไม่ทำอะไรปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ ก็ยิ่งสะสมปัญหา
     ในการสอนบางอย่างต้องใช้เทคนิคเข้าช่วย ซึ่งจะมีเทคนิคเฉพาะในการสอน พ่อแม่ก็ต้องเรียนรู้เทคนิคนั้น ส่วนจะเป็นเทคนิคอะไรก็ต้องดูเด็กเป็นหลัก ดูว่าในสถานการณ์แต่ละแบบจะต้องใช้เทคนิคไหน ซึ่งพ่อแม่ต้องมีเทคนิคหลากหลายเหมือนกัน การบอกการสอนแบบทั่วไปอาจไม่ได้ผล เพราะเด็กเขาไม่สามารถเรียนรู้โดยวิธีนั้นๆ ได้ คือวีธีการก็ต้องเข้มข้นมากกว่าปกติ
 
     เมื่อเด็กต้องไปโรงเรียน ควรจะมีหลักในการดูแลอย่างไร
     เด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ส่วนใหญ่จะสมองดี ถ้าเขาไม่มีปัญหาอะไรที่ขัดขวางการเรียนรู้ตั้งแต่แรก เช่น ไม่มีปัญหาเรื่องสมาธิสั้น หรือไม่มีเรื่องของพฤติกรรมรุนแรง หลายคนเรียนหนังสือได้ครับ และเรียนได้ดีอีกด้วย เด็กที่หมอดูแลอยู่สอบได้ที่ 1 ทุกปีก็ยังมี ถึงการเรียนจะไม่มีปัญหาแต่ก็มักจะมีปัญหาเรื่องการเข้ากับเพื่อน จะเล่นกับเพื่อนไม่เป็น เล่นแรงบ้าง เล่นไม่เหมาะสมบ้าง ไม่เล่นตามกติกา จึงมักจะถูกปฏิเสธจากเพื่อน ปัญหาที่ตามมาคือ พอจะเล่นกับเพื่อนแล้วถูกปฏิเสธเขาก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เขาก็จะหาวิธีการเล่นที่แหวกแนวยิ่งขึ้น ถ้าเป็นการเล่นที่ไม่รบกวนคนอื่นก็ไม่ค่อยมีปัญหา แต่ถ้ารบกวนคนอื่นหรือทำให้คนอื่นเดือดร้อนก็อาจจะกลายเป็นปัญหารุนแรงได้
 
     โรคนี้หายขาดไหม
     สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้มากครับถึงแม้ว่าจะไม่หายขาด ถ้าเด็กได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในเรื่องทักษะการดูแลตัวเองในชีวิตประจำวัน และฝึกฝนในทักษะทางสังคมอย่างต่อเนื่องก็จะพัฒนาไปได้ดี ปัญหาที่ยังคงเหลืออยู่จะถูกมองเป็นเรื่องของบุคลิกภาพมากกว่า แต่ถ้าได้รับคำแนะนำและช่วยเหลือเขาจะดีขึ้นตามความสามารถที่ควรจะเป็น
     ปัญหาบางอย่างที่ยังคงหลงเหลืออยู่ เช่น เรื่องของทักษะสังคม การพูดจาไม่เหมาะสม การเข้ากับเพื่อน ขึ้นอยู่กับสถานที่ที่เขาอยู่มากกว่า คือเมื่อเขาโตขึ้นแล้วได้ทำงานที่เหมาะสมกับตัวเขา หรือในบางที่ที่ยอมรับ ก็จะไม่มีปัญหา ก็คือเขาสามารถใช้ความสามารถของเขาได้เต็มที่ ซึ่งเด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ส่วนใหญ่จะมีความสามารถสูง โดยเฉพาะในเรื่องที่เขาสนใจ เขาจะรู้จริง และรู้ลึกมากกว่าคนอื่นครับ
     อยากฝากคุณพ่อคุณแม่ในเรื่องของการค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคว่า สิ่งที่สำคัญคือจะกรองข้อมูลอย่างไร และนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมได้อย่างไร เพราะขณะนี้มีข้อมูลที่สามารถค้นได้ง่ายจากอินเทอร์เน็ตและสื่อต่างๆ ข้อมูลที่เราได้รับอาจจะเหมาะสมกับเด็กคนหนึ่ง แต่ไม่เหมาะสมกับเด็กอีกคน หรือข้อมูลบางอย่างที่เคยเชื่อว่าเป็นแบบนี้ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว เพราะมีงานวิจัยที่ยืนยันชัดเจนแล้วว่าไม่ใช่ และวิธีการรักษาที่เคยเชื่อว่าได้ผลดี อาจจะไม่ใช้แล้วในปัจจุบัน วิธีการที่ดีที่สุดคือต้องศึกษาข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง พูดคุยแลกเปลี่ยนกับกลุ่มพ่อแม่ด้วยกัน หรือปรึกษากับแพทย์ที่ดูแลอยู่ เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนความรู้และสามารถนำไปใช้ได้อย่างถูกวิธีครับ


ข้อมูล : ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. เมื่อลูกเป็นแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม. [Online] 2549; Available from: URL: http://www.happyhomeclinic.com/au28-aspergersyndrome.htm

แอสเพอร์เกอร์ซินโดรม (Asperger's Syndrome)

     แอสเพอร์เกอร์ (Asperger's Disorder) หรือที่เดิมเรียกว่า แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม (Asperger's Syndrome) เป็นความบกพร่องของพัฒนาการรูปแบบหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะตัว อยู่ในกลุ่มเดียวกับโรคออทิสติก (Autistic Disorder) แต่มีความแตกต่างกันในรายละเอียดอยู่บ้างพอสมควร

     แอสเพอร์เกอร์ซินโดรม คืออะไร
     แอสเพอร์เกอร์ซินโดรม เป็นความบกพร่องของพัฒนาการที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวรูปแบบหนึ่ง โดยบกพร่องในทักษะทางสังคม ร่วมกับมีพฤติกรรมหมกมุ่น ทำซ้ำๆ ไม่ค่อยยืดหยุ่น จนเกิดผลเสียต่อการดำรงชีวิต การเรียน การทำงาน และการเข้าสังคม ส่วนด้านการใช้ภาษา สามารถพูดคุยสื่อสารปกติ แต่ไม่เข้าใจลูกเล่น สำนวน มุกตลกต่างๆ มีระดับสติปัญญาปกติ ความจำดีแต่มีปัญหาในการประยุกต์ใช้
เป็นกลุ่มอาการที่คล้ายๆ ออทิสติก (อยู่ในกลุ่มการวินิจฉัยโรคที่เรียกว่า PDDs เหมือนกัน) แต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว คือพัฒนาการด้านภาษาจะดีกว่าออทิสติก และมีระดับสติปัญญาที่ปกติ หรือสูงกว่าปกติ ซึ่งปัจจุบันเปอร์เซ็นต์ของคนทั่วโลกที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ ออทิสติก และพีดีดี อื่น ๆ รวมกันจะอยู่ที่ประมาณ 1:1,000 และพบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้น พบว่ามีการทำงานของสมองบางตำแหน่งผิดปกติ แต่ยังบอกไม่ได้ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิด แม้ว่าจะมีงานวิจัยหลายชิ้นแต่ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนเสียทีเดียว แนวโน้มปัจจุบันเชื่อว่ามีความบกพร่องของสารพันธุกรรม ซึ่งความผิดปกติทางพันธุกรรมก็ยังบอกไม่ได้อีกเหมือนกันว่าเกิดจากการถ่ายทอดจากรุ่นต่อรุ่นค่อยๆ สะสมความผิดปกติมาจนแสดงออกในรุ่นหนึ่ง หรือว่าเป็นการกลายพันธุ์ของยีน ซึ่งยังต้องศึกษาวิจัยอีกระยะหนึ่งครับ
 
     พฤติกรรมที่สามารถสังเกตได้คืออะไร
     เด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ จะมีความบกพร่องของพัฒนาการด้านสังคมครับ เวลาพูดคุยจะไม่ค่อยมองหน้าสบตา ไม่ค่อยสนใจใคร เรียกก็ไม่หัน เล่นกับเด็กคนอื่นไม่ค่อยเป็น และไม่ค่อยรู้กาลเทศะ แสดงออกไม่เหมาะสมบ่อยๆ ร่วมกับมีพฤติกรรมความสนใจซ้ำๆ จำกัดเฉพาะเรื่อง เช่น ถ้าเขามีความสนใจอะไรก็จะสนใจมากๆ ถึงขั้นที่เรียกว่าหมกมุ่นก็ว่าได้ และเรื่องที่เขาสนใจก็อาจจะเป็นเรื่องที่คนอื่นไม่สนใจ เช่น เด็กบางคนจะชอบดูโลโก้สินค้า เห็นที่ไหนก็จะดู จะถาม และจำได้แม่นยำ บางคนชอบดูยี่ห้อของพัดลมว่ายี่ห้ออะไร เวลาไปเห็นพัดลมที่ไหนก็จะมุ่งตรงไปดูยี่ห้อก่อน เป็นต้น
ปกติเวลาที่พบเจอกันก็จะมีการทักทายกัน มีการพูดคุยเล็กๆ น้อยๆ ก่อนจะเข้าเรื่อง แต่สำหรับคนที่เป็นแอสเพอร์เกอร์พอเจอปุ๊บอยากถามอะไร อยากรู้อะไร ก็จะพูดโพล่งออกมา ไม่มีการทักทาย ไม่มีการเกริ่นนำ จะถามเรื่องที่สนใจโดยไม่เสียเวลา
     การพูดจาหรือการทำอะไรบางอย่างที่ไม่เหมาะสม เช่น เวลาเขาเห็นอะไรหรือรู้สึกอะไร อยากได้อะไร เขาก็จะบอกตรงๆ ซึ่งบางสถานการณ์อาจจะไม่เหมาะสม อาจจะทำให้คนอื่นเกิดความไม่พอใจ เช่น มีเด็กคนหนึ่งอยู่โรงเรียน เขาเห็นแม่คนหนึ่งกำลังดุลูก เขาก็จะเข้าไปบอกทันทีว่า “ไม่ควรดุลูกนะครับ คุณแม่ควรพูดจาเพราะๆ กับลูก” ก็อาจจะทำให้คนอื่นรู้สึกไม่พอใจได้ หรือกินข้าวร้านนี้แล้วมันไม่อร่อย เวลาเดินผ่านทีไรก็จะพูดดังๆ ขึ้นมาตรงนั้นเลยว่า “ข้าวร้านนี้ไม่อร่อย” ซึ่งถามว่าสิ่งที่เขาทำถูกต้องหรือเปล่า ก็ถูกในแง่มุมของความรู้สึกของเขา แต่ไม่เหมาะสมในแง่มุมความรู้สึกของคนอื่น สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาตามมา
     ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ คือคนรอบข้างไม่เข้าใจ ตรงนี้ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ของคุณพ่อคุณแม่ด้วย เพราะมักจะถูกตำหนิ คนอื่นจะมองว่าพ่อแม่ไม่สั่งสอน ไม่บอก ทำให้เด็กไม่รู้กาลเทศะ ทั้งที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็พยายามสอนเต็มที่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่ตัวเด็กด้วยว่าเขาไม่เข้าใจ



 
     แอสเพอร์เกอร์กับออทิสติกแตกต่างกันอย่างไร
     แอสเพอร์เกอร์กับออทิสติกนั้นอาจจะมีลักษณะคล้ายกันมาก แต่จุดที่แตกต่างกันคือเรื่องของภาษา ถ้าเป็นออทิสติกจะมีปัญหาด้านภาษาที่ชัดเจนกว่า คือ พูดช้า พูดไม่ชัด พูดเป็นภาษาของตัวเองมากๆ แต่แอสเพอร์เกอร์พัฒนาการด้านภาษาจะปกติ พูดคุยสื่อสารได้รู้เรื่อง เพียงแต่ลูกเล่นของภาษาที่มีปัญหา จะไม่เข้าใจความหมายลึกๆ ที่แฝงอยู่ ไม่เข้าใจนัยของภาษา เช่น ไม่เข้าใจมุกตลก คำเปรียบเทียบ ประชดประชันต่างๆ เขาจะเข้าใจในลักษณะตรงไปตรงมาตามตัวอักษร ไม่มีสีสันของภาษา ไม่มีลูกเล่นของคำ เป็นต้น
     แต่ก็จะมีบางอย่างที่คล้ายๆ กับออทิสติก เช่น เรื่องการไม่ค่อยสบตา ชอบแยกตัวอยู่คนเดียว เข้ากับเพื่อนไม่ค่อยได้ เวลาพูดก็จะพูดเฉพาะเรื่องที่ตัวเองสนใจ โดยไม่ได้สังเกตดูว่าคนที่เขาฟังอยู่นั้นจะสนใจหรือเปล่า คือเขาจะมีลักษณะที่ไม่ระวังในเรื่องของทักษะทางสังคม ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเพราะว่าเขาไม่เข้าใจ แต่ในด้านของสติปัญญาเด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์จะมีระดับสติปัญญาในระดับปกติหรือสูงกว่าปกตินะครับ
 
ข้อมูลจาก : ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. เมื่อลูกเป็นแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม. [Online] 2549; Available from: URL: http://www.happyhomeclinic.com/au28-aspergersyndrome.htm

วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ข้อจำกัดของเด็กออทิสติก

ข้อจำกัดของเด็กออทิสติกที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ มีหลายประการ ซึ่งสรุปได้ ดังนี้
     1. ข้อจำกัดด้านภาษาและการสื่อความหมาย
     ภาษาประกอบด้วย ความเข้าใจและการพูด การสื่อความหมาย ได้แก่ การแสดง ออกด้วยกิริยาท่าทาง เพื่อส่งสารให้ผู้อื่นเข้าใจเจตนาของตน ข้อจำกัดด้านนี้จึงส่งผลที่สำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็ก
     2. ข้อจำกัดด้านสังคมและอารมณ์ 
     อาทิการปรับตัวเข้ากับกลุ่ม การมีปฏิสัมพันธ์ในกลุ่ม การควบคุมอารมณ์มารอยู่ร่วม หรือทำกิจกรรมกับกลุ่ม ย่อมส่งผลต่อคุณภาพการเรียนรู้ ของเด็ก
     3. ข้อจำกัดด้านพฤติกรรมและพฤติกรรมซ้ำ 
     เด็กออทิสติกบางคน มีปัญหาพฤติกรรม เช่น ความสนใจสั้น หรือที่เรียกว่า สมาธิสั้น หรือ บางคนมีพฤติกรรมซ้ำๆ เป็นพฤติกรรมการกระตุ้นตนเอง เช่น เล่นนิ้วมือตลอดเวลา ส่งเสียงอยู่ ในลำคอตลอดเวลา ทำให้เด็กเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวได้จำกัด
     4. ข้อจำกัดด้านการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัส 
     การตอบสนองหรือการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสที่ผิดปกติ ย่อมส่งผลต่อคุณภาพการรับรู้และ เรียนรู้ของเด็ก เช่น การแยกความเหมือนหรือความแตกต่างด้วยสายตา ย่อมส่งผลกระทบ ต่อการอ่าน
     5. ข้อจำกัดด้านการคิดอย่างมีจินตนาการ 
     จินตนาการ เป็นการคิดต่อยอดและขยายผล หากเด็กมีข้อจำกัดด้านนี้ การเรียนรู้ย่อม เป็นไปได้ไม่เต็มที่
     6. ข้อจำกัดด้านการเรียนรู้ 
     ในเด็กออทิสติกบางคน ระดับความสามารถในการเรียนรู้ เช่น ทักษะการสังเกต การจับคู่ การจัดลำดับ และอื่นๆ มีความจำกัด ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้เชิงวิชาการ
     7. ข้อจำกัดด้านพัฒนาการทางกายบางด้าน      การไม่ประสานสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อมือและตา ความไม่คล่องแคล่วของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ การเคลื่อนไหวทางร่างกายที่ดูไม่สมดุล เช่น งุ่มง่าม ทำให้เด็กขาดทักษะการเคลื่อนไหว ทำให้การเรียนรู้บางด้านที่ต้องใช้ทักษะด้านนี้มีความจำกัด เช่น งานการประดิษฐ์ที่มีความ ละเอียด

อัตราการเกิด
     หากถือการวินิจฉัยตามเกณฑ์ข้อบ่งชี้พฤติกรรมผิดปกติของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ครั้งที่ 3 และ 4 (DSM III, IV) จะพบในสัดส่วนประมาณ 4 หรือ 5 คน ในเด็ก 10,000 คน      หากการวินิจฉัยใช้เกณฑ์ "ภาวะออทิสติก สเปคตรัม" หรือรวมกลุ่มแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม จะ พบในสัดส่วน 21 ถึง 36 คน ในเด็ก 10,000 คน โดยลักษณะอาการเช่นนี้ ต้องพบก่อนเด็กอายุ 3 ปี และสามารเกิดในเด็กทุกเชื้อชาติ สัญชาติ ฐานะ เพศ แต่ส่วนใหญ่จะพบในเด็กชายมากกว่า เด็กหญิง กล่าวคือในเด็กที่มีอาการออทิสซึม 5 คน จะพบว่าเป็นเด็กผู้ชาย 4 คน ผู้หญิง 1 คน

ออทิสติกคือใคร ???

           คำภาษาต่างประเทศคำนี้ สำหรับบุคคลทั่วไปอาจไม่คุ้นเคย แต่สำหรับบุคคลที่เกี่ยวข้อง อาทิบิดามารดา ผู้ปกครอง ครู นักการศึกษา และนักวิชาชีพ คงต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนและลึกซึ้งเพื่อที่จะได้รู้จัก เข้าใจธรรมชาติ ลักษณะ บุคลิก จุดเด่น จุดอ่อน และพฤติกรรม ของเด็ก อันจะนำไปสู่การช่วยเหลือในแนวทางที่ถูกต้อง
           คำว่า ออทิสติก หรือ ออทิสซึม (Autism) เป็นคำที่ใช้เรียกพฤติกรรม หรืออาการที่เกิดขึ้น มาจากภาษากรีก มีรากศัพท์มาจากคำว่า Auto หรือ Self แปลว่า ตัวเอง ทางการแพทย์ถือว่า ออทิซึม เป็นภาวะความผิดปกติทางพัฒนาการอย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการในด้านต่างๆ ทั้งด้านภาษา การสื่อสาร การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และพฤติกรรม โดยจะปรากฏให้เห็นได้ในระยะ 3 ปีแรกของชีวิต ซึ่งเป็นผลมาจาก ความผิดปกติทางหน้าที่ของระบบประสาทบางส่วน
           ดังนั้น ศ.พญ.เพ็ญแข ลิ่มศิลา จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จึงนิยามว่า เด็กออทิสติก คือเด็กที่มีความผิดปกติทางพัฒนาการด้านสังคม ภาษา และการสื่อความหมาย พฤติกรรมอารมณ์ และจินตนาการ ซึ่งมีสาเหตุเนื่องมาจากการทำงานในหน้าที่บางส่วนของสมองผิดปกติไป และความผิดปกตินี้จะพบได้ ก่อนวัย 30 เดือน
           ในทางการศึกษาพิเศษ เด็กออทิสติก จัดเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ กลุ่มหนึ่ง กระบวนการในการช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้กระบวนการหนึ่ง คือ การศึกษา ซึ่งหมายรวมถึง ตั้งแต่การช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม การเตรียมความพร้อม การจัดการศึกษาพิเศษ การเรียน ร่วมจนถึงการเตรียมความพร้อมด้านอาชีพ

ลักษณะอาการ
           The Diagnosis and Statistical Manual, 4th Edition 1994 (DSM IV) ได้อธิบายลักษณะอาการไว้พอสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
               1.ความบกพร่องทางปฏิสัมพันธ์สังคม
               เด็กมีความบกพร่องในการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสิ่งแวดล้อม เช่น ไม่มองสบตา ไม่มีการแสดงออกทางสีหน้า กิริยาท่าทาง จึงไม่มี ความสา มารถที่จะผูกสัมพันธ์กับใคร เล่นกับเพื่อนไม่เป็น ไม่สนใจที่จะทำงานร่วมกับใครมักจะอยู่ในโลกของตัวเอง
               2. ความบกพร่องทางการสื่อสาร
               เป็นความบกพร่องทั้งด้านการใช้ภาษา ความเข้าใจภาษา การสื่อสาร และสื่อความหมาย ด้านการใช้ภาษา เด็กจะมีความล่าช้าทางภาษาและการพูดในหลายระดับ ตั้งแต่ไม่สามารถพูดสื่อความหมายได้เลย หรือบางคนพูดได้ แต่ไม่สามารถสนทนาโต้ตอบกับผู้อื่นได้อย่างเข้าใจและเหมาะสม บางคนจะมีลักษณะการพูดแบบเสียงสะท้อน หรือการพูดเลียนแบบ ทวนคำพูด หรือบางคนพูดซ้ำแต่ในเรื่องที่ตนเองสนใจ การใช้ภาษาพูดมักจะสลับ สรรพนาม ระดับเสียงที่พูด อาจจะมีความผิดปกติ บางคนพูดเสียงใน ระดับเดียว
               3. ลักษณะทางพฤติกรรมและอารมณ์ที่บกพร่อง
               เด็กออทิสติกจะมีพฤติกรรมซ้ำๆ ผิดปกติ เช่น เล่นมือ โบกมือไปมา หรือหมุน ตัวไปรอบๆ ยึดติดไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวัน มีความสนใจแคบ มีความหมกมุ่นติดสิ่งของบางอย่าง เด็กบางคนแสดงออกทางอารมณ์ ไม่เหมาะสมกับวัย บางครั้งร้องไห้ หรือหัวเราะโดยไม่มีเหตุผล บางคนมีปัญหาด้านการปรับตัวเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมต่างๆ โดยจะอาละวาด หรือแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น ร้องไห้ ดิ้น กรีดร้อง
               4. ความบกพร่องด้านการเลียนแบบและจินตนาการ
               บางคนมีความบกพร่องด้านการเลียนแบบ เด็กบางคนต้องมีการกระตุ้นอย่างมาก จึงจะเล่นเลียนแบบได้ เช่น เลียนแบบการเคลื่อนไหว การพูด บางคนไม่สามารถเลียนแบบได้เลยแม้แต่การกระทำง่ายๆ จากการขาดทักษะการเลียนแบบ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการเล่น ทำให้เด็กขาดทักษะการเล่น ในด้านจินตนาการ ไม่สามารถแยกเรื่องจริง และเรื่องสมมุติ ประยุกต์วิธีการจากเหตุการณ์หนึ่งไปอีกเหตุการณ์หนึ่งไม่ได้ เข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรมได้ยาก เล่นสมมุติไม่เป็น จัดระบบความคิด ลำดับความสำคัญ ก่อนหลัง การวางแผน การคิดจินตนาการจากภาษาได้ยาก ซึ่งส่งผลต่อการเรียน
               5. ความบกพร่องด้านการเรียนรู้ทางประสาทสัมผัส
               การใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 การรับรู้ทางสายตา การตอบสนองต่อการฟัง การสัมผัส การรับกลิ่นและรส มีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคล บางคนชอบมองวัตถุหรือแสงมากกว่ามองเพื่อน ไม่มองจ้องตาคนอื่น บางคนเอาของมาส่องดูใกล้ๆ ตา บางคนตอบสนองต่อเสียงผิดปกติ เช่น ไม่หันตามเสียงเรียกทั้งที่ได้ยิน บางคนรับเสียงบางเสียงไม่ได้ จะปิดหู ด้านการสัมผัส กลิ่นและรส บางคนมีการตอบสนองที่ไว หรือช้ากว่า หรือ แปลกกว่าปกติ เช่น ดมของเล่น หรือเล่นแบบแปลกๆ
               6. ความบกพร่องด้านการใช้อวัยวะต่างๆ อย่างประสานสัมพันธ์ 
               การใช้ส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงการประสานสัมพันธ์ของกลไก กล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็กมีความบกพร่อง บางคนมีการเคลื่อนไหวที่ งุ่มง่าม ผิดปกติ ไม่คล่องแคล่ว ท่าทางการเดิน หรือการวิ่งดูแปลก การใช้กล้าม เนื้อมัดเล็ก การหยิบจับ เช่นช้อนส้อม ไม่ประสานกัน
               7. ลักษณะอื่นๆ 
               เด็กออทิสติกบางคนจะมีลักษณะพฤติกรรมอยู่ไม่สุขตลอดเวลา ในขณะที่บางคนมีลักษณะเชื่องช้า งุ่มง่าม บางคนแทบไม่มีความรู้สึกตอบ สนองต่อความเจ็บปวด เช่น ดึงผม หรือหักเล็บตนเองโดยไม่แสดงอาการเจ็บปวด

          อย่างไรก็ตาม ลักษณะอาการข้างต้น เป็นภาพรวมของเด็กออทิสติก แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กออทิสติกทุกคนต้องมีลักษณะทั้งหมดนี้ เด็กบางคนอาจมีเพียงบางลักษณะ และระดับความมากน้อยก็แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล อีกประการหนึ่ง ในเด็กบางคนจะมีลักษณะพิเศษกิจกรรมบางอย่างทำได้ดีมาก เช่น สามารถบวกเลขในใจจำนวนมากๆ ได้อย่างรวดเร็ว บางคนมี ทักษะทางเครื่องยนต์กลไก หรือบางคนสามารถเปิดปิดเครื่องเล่นวิดีโอเทป ได้ก่อนที่จะพูดได้เสียอีก ทั้งนี้ถือเป็นความแตกต่างระหว่างบุคคล

วันจันทร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

พีดีดี เอ็นโอเอส : PDD-NOS (Pervasive Developmental Disorder, Not Otherwise Specified)

พีดีดี เอ็นโอเอส (PDD NOS - Pervasive Developmental Disorder, Not Otherwise Specified) เป็นการวินิจฉัยโรคในกลุ่มพีดีดี (PDDs - Pervasive Developmental Disorders) หรือ ที่เรียกในชื่อเดิมว่า โรคออทิสติก สเป็กตรัม (Autistic Spectrum Disorders) หมายถึง ความผิดปกติของพัฒนาการรูปแบบหนึ่ง ที่มีความบกพร่องทางด้านทักษะสังคม ด้านการใช้ภาษาและการสื่อความหมาย หรือมีกิจกรรม ความสนใจ ค่อนข้างจำกัดเฉพาะเรื่อง แต่ไม่เข้าเกณฑ์การวินิจฉัยของโรคอื่นๆ ในกลุ่มพีดีดี
PDD-NOS คือกลุ่มที่พบมีความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้าน แต่ไม่ครบตามเกณฑ์การวินิจฉัยโรคชนิดเฉพาะใดๆ ข้างต้น เช่น อายุเกิน (เริ่มมีอาการเมื่ออายุมากกว่า 3 ปี) อาการไม่ครบตามจำนวนข้อที่กำหนด ความรุนแรงน้อย มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่าง เป็นต้น
               
ระบบการจำแนกโรคตามแบบ DSM-IV ของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ได้จัดความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้าน พีดีดี (PDDs) ออกเป็น 5 กลุ่มดังนี้
1. ออทิสติก (Autistic Disorder)
2. แอสเพอร์เกอร์ (Asperger's Disorder)
3. เรทท์ (Rett's Disorder)
4. ซีดีดี (CDD - Childhood Disintegrative Disorder)
5. พีดีดี เอ็นโอเอส (PDD-NOS - Pervasive Developmental Disorder, Not Otherwise Specified)

การวินิจฉัย พีดีดี เอ็นโอเอส ประกอบด้วยหลากหลายอาการ หลากหลายความรุนแรง แต่มีลักษณะอาการร่วมบางอย่างคล้ายคลึงกัน  และไม่ครบตามเกณฑ์การวินิจฉัยโรคชนิดเฉพาะใดๆ ในกลุ่มพีดีดี 4 โรคแรก เช่น เริ่มมีอาการเมื่ออายุมากกว่า 3 ปี มีอาการไม่ครบตามจำนวนข้อที่กำหนด มีความรุนแรงน้อย มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่าง เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการใช้ในกรณีที่ยังไม่แน่ใจในการวินิจฉัย เนื่องจากเวลาที่ใช้ในการสังเกตและวิเคราะห์พฤติกรรมยังไม่เพียงพอ ซึ่งในกรณีนี้อาจเปลี่ยนการวินิจฉัยได้เมื่อมีการประเมินอย่างละเอียดแล้วการนำมาจัดรวมอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า พีดีดี เอ็นโอเอส เพื่อให้เกิดความสะดวกในการศึกษา วิจัย การดูแลรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพ และสามารถสื่อสารได้เข้าใจตรงกันทั่วโลก
การดูแลช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ เป็นการรักษาตามอาการ แก้ไขความบกพร่องตามพฤติกรรมต่างๆ ของเด็กที่แสดงออกมา ใช้แนวทางเดียวกับ พีดีดี กลุ่มอื่นๆ โดยยึดหลักการดูแลช่วยเหลือให้เร็วที่สุด ทันทีที่ได้รับการวินิจฉัย และทำอย่างต่อเนื่อง
การวินิจฉัยว่าเด็กเป็นอะไรก็ตาม ไม่ใช่การตีตราประทับที่จะสร้างความทุกข์ใจให้กับผู้ปกครอง หรือการบอกข้อจำกัดในความสามารถของเด็กให้เกิดความสิ้นหวัง แต่เป็นการบอกว่าเด็กควรจะได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างไร แนวทางใด เพื่อแก้ไขความบกพร่องให้ตรงจุด เพราะถ้าพวกเขาได้รับการดูแลช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด ถูกแนวทาง และทำอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นโอกาสที่เขาจะมีการพัฒนาจนเต็มศักยภาพที่เขามี ถึงแม้ว่ากระบวนการดูแลช่วยเหลือจะผ่านความยากลำบาก และความเจ็บปวดของพ่อแม่ แต่ก็มีหลักประกันได้ว่า กระบวนการเหล่าสามารถช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้มาก เมื่อเทียบกับในอดีตที่เด็กกลุ่มนี้ไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลือแต่เริ่มแรก พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน
สิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้ปกครองควรทำ คือ ช่วยให้เด็กพัฒนาได้เต็มศักยภาพที่เขามีมากที่สุด โดยการส่งเสริมจุดแข็ง และแก้ไขจุดบกพร่องที่มีในตัวเด็ก
การเรียนรู้ให้เข้าใจในภาวะความบกพร่องเหล่านี้ เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผู้ปกครองสามารถเข้าใจเด็กมากที่สุด และดูแลได้อย่างเหมาะสม พีดีดี เอ็นโอเอส จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับ ออทิสติก หรือแอสเพอร์เกอร์ ดังนั้นการเรียนรู้แนวทางการดูแลช่วยเหลือจากเรื่องออทิสติก หรือแอสเพอร์เกอร์ ก็สามารถช่วยทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจมากขึ้น