Custom Search

วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553

รู้ได้อย่างไรว่าหนูเป็นไฮเปอร์


         เคยได้ยินบางคนพูดว่า “เด็กซนเป็นเด็กฉลาด ...ยิ่งซนมากยิ่งฉลาดมาก” คุณพ่อคุณแม่ที่เห็นเจ้าจอมซนวิ่งวุ่นทั้งวันก็ชอบใจเพราะคิดว่า ลูกคงจะฉลาดน่าดู!! ความจริงแล้ว “ความซน” ของเด็กก็มีขอบเขตเหมือนกัน ซนมากไปก็อาจเข้าข่ายเป็นเด็กไฮเปอร์ก็ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กที่อยู่ไม่นิ่ง จะเป็นเด็กไฮเปอร์หมดทุกคน เพราะฉะนั้นก่อนที่พ่อแม่ที่มีลูกวัยซนจะกังวลไปมากกว่านี้ เราไปทำความรู้จักกับคำว่า “ไฮเปอร์” ให้ถ่องแท้กันดีกว่าค่ะ


ไฮเปอร์ เป็นคำที่มาจากภาษาอังกฤษว่า hyperactive ซึ่งหมายถึงลักษณะของเด็กที่อยู่ไม่นิ่ง วิ่งซนทั้งวัน และมีอาการสมาธิสั้นร่วมด้วย ปัจจุบันเราใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Attention Deficit and Hyperactive Disorders หรือ เรียกย่อๆ ว่า ADHD
ลักษณะของเด็กไฮเปอร์แบ่งเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มที่ซนมากผิดปกติ กับกลุ่มสมาธิบกพร่องหรือสมาธิสั้น ซึ่งคุณสามารถสังเกตพฤติกรรมของลูกได้ว่ามีแนวโน้มอยู่ในกลุ่มใด
ลักษณะของเด็กกลุ่มซนมากผิดปกติ
  • ไม่รู้จักระมัดระวังตัวเอง ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยๆ
  • อยู่ไม่นิ่ง ชอบวิ่งไปมาและปีนป่าย
  • มีอาการลุกลี้ลุกลน ชอบลุกจากที่นั่งบ่อยๆ
  • ไม่สามารถเล่นคนเดียวเงียบๆ ได้
  • อารมณ์ร้อน และแปรปรวนง่าย
  • ขาดความอดทนในการรอคอย พูดมาก ชอบพูดขัดจังหวะ และช่างฟ้อง
ลักษณะของเด็กกลุ่มสมาธิบกพร่อง
  • มีปัญหาในการทำกิจกรรมตามลำพังและการฟังคำสั่ง โดยเฉพาะกิจกรรมที่ใช้คำสั่งยาวๆ
  • มีปัญหาในการทำกิจกรรมหรือการทำงานใดๆ ให้สำเร็จลุล่วง
  • มีปัญหาในการทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิดนานๆ (long mental effort)
  • มักขี้ลืมและทำอุปกรณ์การเรียนหายบ่อยๆ
  • ถูกรบกวนจากสิ่งเร้าต่างๆ ได้ง่ายมาก มีอาการวอกแวก เหม่อลอย หรือเพ้อฝัน
  • ขาดสมาธิและความตั้งใจในการเรียนหรือการทำกิจกรรมที่มีรายละเอียดปลีกย่อย
สาเหตุที่ทำให้ลูกเป็นเด็กไฮเปอร์
ไฮเปอร์แอคทีฟเป็นปัญหาเกี่ยวกับสภาวะทางพฤติกรรมซึ่งมีสาเหตุหลักๆ อยู่ด้วยกันสามประการก็คือ
        1. ลักษณะถ่ายทอดทางพันธุกรรม (Genetic Problem) นักวิจัยพบว่าเด็กไฮเปอร์ประมาณ 30-40% จะมีญาติพี่น้องที่มีปัญหานี้ แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าเด็กทุกคนในครอบครัว ที่มีปัญหาไฮเปอร์จะต้องมีอาการไฮเปอร์ทุกคน
         2. ปัจจัยเกี่ยวกับสารเคมีในสมอง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งผ่านข้อมูลต่างๆ ในสมอง หรือที่เรียกว่า Neurotransmitters ภายในสมอง ถ้ามนุษย์ขาดสารเคมีในสมองเหล่านี้หรือมีจำนวนน้อยไม่เพียงพอ หรือสารเคมีไม่ทำปฏิกิริยาตามที่ควรจะเป็นก็จะเป็นสาเหตุให้เกิดอาการไฮเปอร์ได้
         3. สภาพแวดล้อมของเด็กก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เด็กมีอาการไฮเปอร์ หรือมีอาการเพิ่มมากขึ้นได้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในครรภ์ได้แก่ คุณแม่ดื่มแอลกอฮอล์หรือเสพสิ่งเสพติด ภาวะทุพโภชนาการของคุณแม่รวมไปถึงการที่คุณแม่ได้รับสารเคมีที่เป็นอันตรายเช่น สารตะกั่ว ส่วนปัจจัยหลังคลอดก็ได้แก่ การที่สมองของทารกได้รับบาดเจ็บในระหว่างคลอดหรือหลังคลอด รวมไปถึงการติดเชื้อ การขาดธาตุเหล็ก ซึ่งทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง และการที่ทารกได้รับสารเคมีที่เป็นอันตราย
นอกจากการสังเกตพฤติกรรมของลูก และการหาสาเหตุที่อาจทำให้ลูกเป็นเด็กไฮเปอร์แล้ว การวินิจฉัยของแพทย์ก็มีส่วนสำคัญ เหมือนกันเพราะเด็กบางคนอาจจะมีพฤติกรรมคล้ายกับเด็กไฮเปอร์ แต่ความจริงแล้วพฤติกรรมนั้นมีสาเหตุมาจากความผิดปกติบางอย่างของร่างกาย เช่น การสูญเสียการได้ยิน ปัญหาต่อมไทรอยด์ ปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น อาการชักบางประเภท และอาการของโรคเรื้อรังบางชนิด เช่น โรคภูมิแพ้ ทำให้เด็กขาดสมาธิ มีอาการลุกลี้ลุกลนจนทำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจผิดว่าลูกเป็นเด็กไฮเปอร์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณควรทำเมื่อสงสัยว่าเจ้าจอมซนมีแนวโน้มที่จะเป็นเด็กไฮเปอร์ก็คือ ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยต่อไปค่ะ
การวินิจฉัยความเป็นไฮเปอร์นั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ฉะนั้นจึงต้องอาศัยทีมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มาช่วยทำการวินิจฉัยซึ่งประกอบไปด้วย
  • กุมารแพทย์และแพทย์ทางระบบประสาทซึ่งมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับปัญหาพฤติกรรมและปัญหาพัฒนาการ
  • นักวิชาการด้านสุขภาพจิต (Mental Health)
  • แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านครอบครัว
  • จิตแพทย์เด็ก
  • ทีมนักวิชาการที่มีประสบการณ์หรือความสามารถพิเศษที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีความคิดเห็น: