Custom Search

วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ดูแลเด็กไฮเปอร์

ดูแลลูกไฮเปอร์อย่างไรให้มีสุขภาพดี
          หลังจากทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดและพบว่าเจ้าจอมซนเข้าข่ายเป็นเด็กไฮเปอร์ ก็ถึงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อไป ก่อนอื่นต้องเริ่มที่คุณพ่อคุณแม่ก่อนคุณต้องมีความเข้าใจในปัญหาของลูก มีความเข้มแข็ง มีกำลังใจที่ดีและเป็นกำลังใจให้กันและกันเพื่อที่ทั้งคุณ และลูกจะได้ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี นอกจากครอบครัวแล้ว โรงเรียนก็มีส่วนสำคัญ เพราะถ้าคุณครูไม่มีความเข้าใจและไม่ให้ความร่วมมือกับผู้ปกครองก็จะไม่สามารถทำให้ปัญหาทุเลาลงได้ สรุปก็คือการที่จะช่วยเหลือเด็กไฮเปอร์นั้นเราต้องการความร่วมมือทั้งจากพ่อแม่ คุณครู และแพทย์ เพราะนอกจากเจ้าจอมซนจะมีพฤติกรรมซนสมชื่อแล้ว ยังมีอาการอื่นๆ ที่พบบ่อยร่วมด้วย ได้แก่
ความวิตกกังวล ซึมเศร้า
  • ปัสสาวะรดที่นอนและถ่ายอุจจาระรดกางเกง
  • มีอาการของโรค Tourettes Diseases ซึ่งจะมีอาการกระตุกของอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น การกระพริบตา ทำจมูกบิดเบี้ยว รวมไปถึงการเคลื่อนไหวผิดปกติของปาก เช่น การไอ การขับเสมหะ อาการต่างๆ เหล่านี้มักจะเกิดขึ้นหลังอาการสมาธิบกพร่อง
  • มีพัฒนาการในด้านต่างๆ ช้ากว่าเด็กทั่วไป เช่น พัฒนาการของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกาย เป็นต้น
  • มีความบกพร่องในการเรียนรู้ด้านภาษา ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถระบุได้ว่า ปัญหาเกิดจากความผิดปกติด้านการเรียนรู้ภาษา หรือเกิดจากการเป็นไฮเปอร์
  • มักจะมีอาการของภูมิแพ้ร่วมด้วย รวมไปถึงอาการนอนไม่หลับและฝันร้าย
  • ความสามารถในการได้ยินลดลงเนื่องจากการติดเชื้อที่หู

ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่บั่นทั้งร่างกายและจิตใจของเด็ก ทำให้เด็กรู้สึกแปลกแยก แตกต่าง เกิดความรู้สึกคับข้องใจ หากคุณพ่อคุณแม่ปล่อยปละละเลย ไม่เอาใจใส่ ครูอาจารย์ไม่เข้าใจ ก็จะยิ่งทำให้เด็กรู้สึกโดดเดี่ยวมากยิ่งขึ้น และสุดท้ายอาจจะทำให้เกิดปัญหาใหญ่ต่อไปในอนาคตได้
วิธีการช่วยเหลือและบำบัดรักษาเด็กไฮเปอร์มีอยู่ด้วยกัน 2 ลักษณะ คือ การบำบัดรักษาแบบมาตรฐาน (Standard Therapies) และ การบำบัดรักษาแบบ Controversial (Nontraditional Therapies)

การบำบัดรักษาแบบมาตรฐาน (Standard Therapies) แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ
1. การบำบัดด้านการศึกษา (Education Approach)
คุณครูผู้สอนมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการบำบัดรักษาด้านนี้ หากครูผู้สอนมีความเข้าใจในปัญหา และรู้วิธีการสอนที่เหมาะสม ก็จะช่วยให้ปัญหาในการเรียนของเด็กลดลง ทำให้เด็กเรียนรู้ได้ดีขึ้น และมีความสุขมากยิ่งขึ้นได้ ครูผู้สอนสามารถช่วยเหลือเด็กไฮเปอร์ที่มีปัญหาในชั้นเรียนได้หลายวิธี
  • เขียนคำสั่งที่ต้องการให้เด็กทำตามอย่างสั้นๆ และชัดเจนไว้บนกระดาน
  • จัดให้เด็กที่มีปัญหานั่งหน้าชั้นเรียน หรือนั่งกับเพื่อนที่มีความเข้าใจและสามารถช่วยเหลือในเรื่องการเรียนได้
  • เพิ่มเวลาในการเรียนรู้ให้มากกว่าเด็กทั่วไป รวมไปถึงเวลาที่ใช้ในการทดสอบความรู้ความเข้าใจของเด็กด้วย
  • อนุญาตให้เด็กใช้เทปบันทึกเสียงการเรียนการสอนในชั้นเรียนเพื่อที่จะสามารถเปิดฟังซ้ำได้
  • เลือกใช้แบบเรียนที่ไม่ซับซ้อน เข้าใจง่าย
  • ไม่ควรตำหนิหรือลงโทษเด็กไฮเปอร์ที่มีปัญหาสะเพร่าเลินเล่อหรือขาดความสนใจในการเรียนเป็นช่วงๆ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นอาการของเด็กไฮเปอร์ที่เด็กไม่ได้ตั้งใจจะทำให้เป็นเช่นนั้น
  • เมื่อเด็กทำความดีควรให้กำลังใจและให้คำชมเชย
2. การบำบัดรักษาด้านจิตวิทยาและพฤติกรรม (Psychological and Behavioral Approach)
ได้แก่ การปรับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ การฝึกทักษะทางสังคมเพื่อให้เด็กสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข การทำจิตบำบัดเพื่อช่วยลดปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจ เช่น ภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล และการใช้ครอบครัวบำบัดเพื่อสร้างความรักความอบอุ่นให้เกิดขึ้นภายในครอบครัว เป็นต้น
3. การรักษาด้วยยา (Medication)
เป็นการรักษาที่ค่อนข้างได้ผลในเรื่องของการควบคุมพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของเด็กแต่ก็มีผลข้างเคียงเกิดขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียดเพื่อจะได้ไม่เกิดความวิตกกังวลเมื่อผลข้างเคียง ของการใช้ยาเกิดขึ้นกับลูก

เด็กไฮเปอร์จะเป็นอย่างไรเมื่อโตขึ้น
หลังจากทำความเข้าใจในตัวลูก และลักษณะอาการไฮเปอร์ของลูกอย่างถ่องแท้แล้ว คำถามที่คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอยากจะทราบต่อมาก็คือ เจ้าจอมซนจะดำเนินชีวิตอย่างไรเมื่อโตขึ้น จะมีปัญหาไหม จะอยู่ร่วมกับคนอื่นได้หรือไม่ แล้วชีวิตของลูกจะเป็นอย่างไรต่อไป
คำตอบก็คือ... เด็กไฮเปอร์ส่วนใหญ่ที่ได้รับการดูแลด้วยความรัก ความเอาใจใส่และความเข้าใจจากคนรอบข้าง ประกอบกับวุฒิภาวะที่มากขึ้น จะทำให้เด็กมีความเปลี่ยนแปลงและมีพัฒนาการไปในทางที่ดีขึ้น เพราะเด็กเริ่มเรียนรู้ที่จะควบคุมพฤติกรรมของตนเอง เรียนรู้ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ แต่ถึงกระนั้นเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ลักษณะอาการไฮเปอร์หลักๆ ก็จะยังปรากฏให้เห็นอยู่ เช่น อาการกระสับกระส่าย ขาดการวางแผนที่ดี มีความหุนหันพลันแล่น ไม่มีความยับยั้งชั่งใจ และอารมณ์แปรปรวนง่าย สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะสามารถช่วยลูกได้ก็คือต้องอาศัยวิธีการบำบัดรักษาหลายวิธีควบคู่กันไป และทำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะการบำบัดรักษาด้วยยา เพราะจากงานวิจัยพบว่า การบำบัดรักษาด้วยยาอย่างต่อเนื่องสามารถช่วยให้ผู้ใหญ่วัย 30-40 ปี ที่เป็นไฮเปอร์มีการพัฒนา และปรับปรุงตนเองได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งก็จะทำให้บุคคลเหล่านั้นสามารถดำรงชีวิต ได้อย่างปกติสุขเหมือนคนทั่วไปได้ค่ะ
ลูก คือ แก้วตาดวงใจของผู้เป็นพ่อแม่ ไม่ว่าลูกจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร หรือมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นกับเขา เขาก็ยังคงเป็นลูกอันเป็นที่รักของคุณเสมอ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นสิ่งที่ลูกต้องการก็คือความรัก ความเข้าใจจากผู้ที่เป็นพ่อแม่ ความรักของพ่อแม่จะเป็นยาใจสำคัญที่จะช่วยให้ลูกสามารถฟันฝ่าปัญหาต่างๆ ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ถ้าแม้แต่พ่อแม่ยังไม่รักไม่เข้าใจแล้ว ลูกของคุณจะดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น: