Custom Search

วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ดูแลเด็กไฮเปอร์

ดูแลลูกไฮเปอร์อย่างไรให้มีสุขภาพดี
          หลังจากทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดและพบว่าเจ้าจอมซนเข้าข่ายเป็นเด็กไฮเปอร์ ก็ถึงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อไป ก่อนอื่นต้องเริ่มที่คุณพ่อคุณแม่ก่อนคุณต้องมีความเข้าใจในปัญหาของลูก มีความเข้มแข็ง มีกำลังใจที่ดีและเป็นกำลังใจให้กันและกันเพื่อที่ทั้งคุณ และลูกจะได้ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี นอกจากครอบครัวแล้ว โรงเรียนก็มีส่วนสำคัญ เพราะถ้าคุณครูไม่มีความเข้าใจและไม่ให้ความร่วมมือกับผู้ปกครองก็จะไม่สามารถทำให้ปัญหาทุเลาลงได้ สรุปก็คือการที่จะช่วยเหลือเด็กไฮเปอร์นั้นเราต้องการความร่วมมือทั้งจากพ่อแม่ คุณครู และแพทย์ เพราะนอกจากเจ้าจอมซนจะมีพฤติกรรมซนสมชื่อแล้ว ยังมีอาการอื่นๆ ที่พบบ่อยร่วมด้วย ได้แก่
ความวิตกกังวล ซึมเศร้า
  • ปัสสาวะรดที่นอนและถ่ายอุจจาระรดกางเกง
  • มีอาการของโรค Tourettes Diseases ซึ่งจะมีอาการกระตุกของอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น การกระพริบตา ทำจมูกบิดเบี้ยว รวมไปถึงการเคลื่อนไหวผิดปกติของปาก เช่น การไอ การขับเสมหะ อาการต่างๆ เหล่านี้มักจะเกิดขึ้นหลังอาการสมาธิบกพร่อง
  • มีพัฒนาการในด้านต่างๆ ช้ากว่าเด็กทั่วไป เช่น พัฒนาการของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกาย เป็นต้น
  • มีความบกพร่องในการเรียนรู้ด้านภาษา ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถระบุได้ว่า ปัญหาเกิดจากความผิดปกติด้านการเรียนรู้ภาษา หรือเกิดจากการเป็นไฮเปอร์
  • มักจะมีอาการของภูมิแพ้ร่วมด้วย รวมไปถึงอาการนอนไม่หลับและฝันร้าย
  • ความสามารถในการได้ยินลดลงเนื่องจากการติดเชื้อที่หู

ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่บั่นทั้งร่างกายและจิตใจของเด็ก ทำให้เด็กรู้สึกแปลกแยก แตกต่าง เกิดความรู้สึกคับข้องใจ หากคุณพ่อคุณแม่ปล่อยปละละเลย ไม่เอาใจใส่ ครูอาจารย์ไม่เข้าใจ ก็จะยิ่งทำให้เด็กรู้สึกโดดเดี่ยวมากยิ่งขึ้น และสุดท้ายอาจจะทำให้เกิดปัญหาใหญ่ต่อไปในอนาคตได้
วิธีการช่วยเหลือและบำบัดรักษาเด็กไฮเปอร์มีอยู่ด้วยกัน 2 ลักษณะ คือ การบำบัดรักษาแบบมาตรฐาน (Standard Therapies) และ การบำบัดรักษาแบบ Controversial (Nontraditional Therapies)

การบำบัดรักษาแบบมาตรฐาน (Standard Therapies) แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ
1. การบำบัดด้านการศึกษา (Education Approach)
คุณครูผู้สอนมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการบำบัดรักษาด้านนี้ หากครูผู้สอนมีความเข้าใจในปัญหา และรู้วิธีการสอนที่เหมาะสม ก็จะช่วยให้ปัญหาในการเรียนของเด็กลดลง ทำให้เด็กเรียนรู้ได้ดีขึ้น และมีความสุขมากยิ่งขึ้นได้ ครูผู้สอนสามารถช่วยเหลือเด็กไฮเปอร์ที่มีปัญหาในชั้นเรียนได้หลายวิธี
  • เขียนคำสั่งที่ต้องการให้เด็กทำตามอย่างสั้นๆ และชัดเจนไว้บนกระดาน
  • จัดให้เด็กที่มีปัญหานั่งหน้าชั้นเรียน หรือนั่งกับเพื่อนที่มีความเข้าใจและสามารถช่วยเหลือในเรื่องการเรียนได้
  • เพิ่มเวลาในการเรียนรู้ให้มากกว่าเด็กทั่วไป รวมไปถึงเวลาที่ใช้ในการทดสอบความรู้ความเข้าใจของเด็กด้วย
  • อนุญาตให้เด็กใช้เทปบันทึกเสียงการเรียนการสอนในชั้นเรียนเพื่อที่จะสามารถเปิดฟังซ้ำได้
  • เลือกใช้แบบเรียนที่ไม่ซับซ้อน เข้าใจง่าย
  • ไม่ควรตำหนิหรือลงโทษเด็กไฮเปอร์ที่มีปัญหาสะเพร่าเลินเล่อหรือขาดความสนใจในการเรียนเป็นช่วงๆ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นอาการของเด็กไฮเปอร์ที่เด็กไม่ได้ตั้งใจจะทำให้เป็นเช่นนั้น
  • เมื่อเด็กทำความดีควรให้กำลังใจและให้คำชมเชย
2. การบำบัดรักษาด้านจิตวิทยาและพฤติกรรม (Psychological and Behavioral Approach)
ได้แก่ การปรับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ การฝึกทักษะทางสังคมเพื่อให้เด็กสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข การทำจิตบำบัดเพื่อช่วยลดปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจ เช่น ภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล และการใช้ครอบครัวบำบัดเพื่อสร้างความรักความอบอุ่นให้เกิดขึ้นภายในครอบครัว เป็นต้น
3. การรักษาด้วยยา (Medication)
เป็นการรักษาที่ค่อนข้างได้ผลในเรื่องของการควบคุมพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของเด็กแต่ก็มีผลข้างเคียงเกิดขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียดเพื่อจะได้ไม่เกิดความวิตกกังวลเมื่อผลข้างเคียง ของการใช้ยาเกิดขึ้นกับลูก

เด็กไฮเปอร์จะเป็นอย่างไรเมื่อโตขึ้น
หลังจากทำความเข้าใจในตัวลูก และลักษณะอาการไฮเปอร์ของลูกอย่างถ่องแท้แล้ว คำถามที่คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอยากจะทราบต่อมาก็คือ เจ้าจอมซนจะดำเนินชีวิตอย่างไรเมื่อโตขึ้น จะมีปัญหาไหม จะอยู่ร่วมกับคนอื่นได้หรือไม่ แล้วชีวิตของลูกจะเป็นอย่างไรต่อไป
คำตอบก็คือ... เด็กไฮเปอร์ส่วนใหญ่ที่ได้รับการดูแลด้วยความรัก ความเอาใจใส่และความเข้าใจจากคนรอบข้าง ประกอบกับวุฒิภาวะที่มากขึ้น จะทำให้เด็กมีความเปลี่ยนแปลงและมีพัฒนาการไปในทางที่ดีขึ้น เพราะเด็กเริ่มเรียนรู้ที่จะควบคุมพฤติกรรมของตนเอง เรียนรู้ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ แต่ถึงกระนั้นเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ลักษณะอาการไฮเปอร์หลักๆ ก็จะยังปรากฏให้เห็นอยู่ เช่น อาการกระสับกระส่าย ขาดการวางแผนที่ดี มีความหุนหันพลันแล่น ไม่มีความยับยั้งชั่งใจ และอารมณ์แปรปรวนง่าย สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะสามารถช่วยลูกได้ก็คือต้องอาศัยวิธีการบำบัดรักษาหลายวิธีควบคู่กันไป และทำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะการบำบัดรักษาด้วยยา เพราะจากงานวิจัยพบว่า การบำบัดรักษาด้วยยาอย่างต่อเนื่องสามารถช่วยให้ผู้ใหญ่วัย 30-40 ปี ที่เป็นไฮเปอร์มีการพัฒนา และปรับปรุงตนเองได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งก็จะทำให้บุคคลเหล่านั้นสามารถดำรงชีวิต ได้อย่างปกติสุขเหมือนคนทั่วไปได้ค่ะ
ลูก คือ แก้วตาดวงใจของผู้เป็นพ่อแม่ ไม่ว่าลูกจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร หรือมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นกับเขา เขาก็ยังคงเป็นลูกอันเป็นที่รักของคุณเสมอ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นสิ่งที่ลูกต้องการก็คือความรัก ความเข้าใจจากผู้ที่เป็นพ่อแม่ ความรักของพ่อแม่จะเป็นยาใจสำคัญที่จะช่วยให้ลูกสามารถฟันฝ่าปัญหาต่างๆ ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ถ้าแม้แต่พ่อแม่ยังไม่รักไม่เข้าใจแล้ว ลูกของคุณจะดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างไร

รู้ได้อย่างไรว่าหนูเป็นไฮเปอร์


         เคยได้ยินบางคนพูดว่า “เด็กซนเป็นเด็กฉลาด ...ยิ่งซนมากยิ่งฉลาดมาก” คุณพ่อคุณแม่ที่เห็นเจ้าจอมซนวิ่งวุ่นทั้งวันก็ชอบใจเพราะคิดว่า ลูกคงจะฉลาดน่าดู!! ความจริงแล้ว “ความซน” ของเด็กก็มีขอบเขตเหมือนกัน ซนมากไปก็อาจเข้าข่ายเป็นเด็กไฮเปอร์ก็ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กที่อยู่ไม่นิ่ง จะเป็นเด็กไฮเปอร์หมดทุกคน เพราะฉะนั้นก่อนที่พ่อแม่ที่มีลูกวัยซนจะกังวลไปมากกว่านี้ เราไปทำความรู้จักกับคำว่า “ไฮเปอร์” ให้ถ่องแท้กันดีกว่าค่ะ


ไฮเปอร์ เป็นคำที่มาจากภาษาอังกฤษว่า hyperactive ซึ่งหมายถึงลักษณะของเด็กที่อยู่ไม่นิ่ง วิ่งซนทั้งวัน และมีอาการสมาธิสั้นร่วมด้วย ปัจจุบันเราใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Attention Deficit and Hyperactive Disorders หรือ เรียกย่อๆ ว่า ADHD
ลักษณะของเด็กไฮเปอร์แบ่งเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มที่ซนมากผิดปกติ กับกลุ่มสมาธิบกพร่องหรือสมาธิสั้น ซึ่งคุณสามารถสังเกตพฤติกรรมของลูกได้ว่ามีแนวโน้มอยู่ในกลุ่มใด
ลักษณะของเด็กกลุ่มซนมากผิดปกติ
  • ไม่รู้จักระมัดระวังตัวเอง ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยๆ
  • อยู่ไม่นิ่ง ชอบวิ่งไปมาและปีนป่าย
  • มีอาการลุกลี้ลุกลน ชอบลุกจากที่นั่งบ่อยๆ
  • ไม่สามารถเล่นคนเดียวเงียบๆ ได้
  • อารมณ์ร้อน และแปรปรวนง่าย
  • ขาดความอดทนในการรอคอย พูดมาก ชอบพูดขัดจังหวะ และช่างฟ้อง
ลักษณะของเด็กกลุ่มสมาธิบกพร่อง
  • มีปัญหาในการทำกิจกรรมตามลำพังและการฟังคำสั่ง โดยเฉพาะกิจกรรมที่ใช้คำสั่งยาวๆ
  • มีปัญหาในการทำกิจกรรมหรือการทำงานใดๆ ให้สำเร็จลุล่วง
  • มีปัญหาในการทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิดนานๆ (long mental effort)
  • มักขี้ลืมและทำอุปกรณ์การเรียนหายบ่อยๆ
  • ถูกรบกวนจากสิ่งเร้าต่างๆ ได้ง่ายมาก มีอาการวอกแวก เหม่อลอย หรือเพ้อฝัน
  • ขาดสมาธิและความตั้งใจในการเรียนหรือการทำกิจกรรมที่มีรายละเอียดปลีกย่อย
สาเหตุที่ทำให้ลูกเป็นเด็กไฮเปอร์
ไฮเปอร์แอคทีฟเป็นปัญหาเกี่ยวกับสภาวะทางพฤติกรรมซึ่งมีสาเหตุหลักๆ อยู่ด้วยกันสามประการก็คือ
        1. ลักษณะถ่ายทอดทางพันธุกรรม (Genetic Problem) นักวิจัยพบว่าเด็กไฮเปอร์ประมาณ 30-40% จะมีญาติพี่น้องที่มีปัญหานี้ แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าเด็กทุกคนในครอบครัว ที่มีปัญหาไฮเปอร์จะต้องมีอาการไฮเปอร์ทุกคน
         2. ปัจจัยเกี่ยวกับสารเคมีในสมอง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งผ่านข้อมูลต่างๆ ในสมอง หรือที่เรียกว่า Neurotransmitters ภายในสมอง ถ้ามนุษย์ขาดสารเคมีในสมองเหล่านี้หรือมีจำนวนน้อยไม่เพียงพอ หรือสารเคมีไม่ทำปฏิกิริยาตามที่ควรจะเป็นก็จะเป็นสาเหตุให้เกิดอาการไฮเปอร์ได้
         3. สภาพแวดล้อมของเด็กก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เด็กมีอาการไฮเปอร์ หรือมีอาการเพิ่มมากขึ้นได้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในครรภ์ได้แก่ คุณแม่ดื่มแอลกอฮอล์หรือเสพสิ่งเสพติด ภาวะทุพโภชนาการของคุณแม่รวมไปถึงการที่คุณแม่ได้รับสารเคมีที่เป็นอันตรายเช่น สารตะกั่ว ส่วนปัจจัยหลังคลอดก็ได้แก่ การที่สมองของทารกได้รับบาดเจ็บในระหว่างคลอดหรือหลังคลอด รวมไปถึงการติดเชื้อ การขาดธาตุเหล็ก ซึ่งทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง และการที่ทารกได้รับสารเคมีที่เป็นอันตราย
นอกจากการสังเกตพฤติกรรมของลูก และการหาสาเหตุที่อาจทำให้ลูกเป็นเด็กไฮเปอร์แล้ว การวินิจฉัยของแพทย์ก็มีส่วนสำคัญ เหมือนกันเพราะเด็กบางคนอาจจะมีพฤติกรรมคล้ายกับเด็กไฮเปอร์ แต่ความจริงแล้วพฤติกรรมนั้นมีสาเหตุมาจากความผิดปกติบางอย่างของร่างกาย เช่น การสูญเสียการได้ยิน ปัญหาต่อมไทรอยด์ ปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น อาการชักบางประเภท และอาการของโรคเรื้อรังบางชนิด เช่น โรคภูมิแพ้ ทำให้เด็กขาดสมาธิ มีอาการลุกลี้ลุกลนจนทำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจผิดว่าลูกเป็นเด็กไฮเปอร์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณควรทำเมื่อสงสัยว่าเจ้าจอมซนมีแนวโน้มที่จะเป็นเด็กไฮเปอร์ก็คือ ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยต่อไปค่ะ
การวินิจฉัยความเป็นไฮเปอร์นั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ฉะนั้นจึงต้องอาศัยทีมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มาช่วยทำการวินิจฉัยซึ่งประกอบไปด้วย
  • กุมารแพทย์และแพทย์ทางระบบประสาทซึ่งมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับปัญหาพฤติกรรมและปัญหาพัฒนาการ
  • นักวิชาการด้านสุขภาพจิต (Mental Health)
  • แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านครอบครัว
  • จิตแพทย์เด็ก
  • ทีมนักวิชาการที่มีประสบการณ์หรือความสามารถพิเศษที่เกี่ยวข้อง

วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เมื่อลูกเป็นเด็กพิเศษ

ข้อมูลจาก : http://www.thaiza.com/

     คงไม่มีใครปฏิเสธว่า "ความรัก" ของผู้เป็นพ่อแม่นั้น เป็นความรักที่ไร้เงื่อนไข ไม่ว่าลูกของตนจะออกมารูปร่างหน้าตาอย่างไร หรือแม้ว่าสายเลือดที่ถือกำเนิดมานั้น จะผิดปกติแตกต่างจากบุคคลทั่วไปก็ตามที ลำพังเพียงความห่วงใยที่พ่อแม่มีให้บุตรหลาน ที่ต้องเผชิญหน้ากับความเป็นไปในสังคมปัจจุบัน ซึ่งนับวันภัยในรูปแบบต่างๆ ยิ่งมีมากขึ้น ก็นับว่ามากมายแล้ว แต่สำหรับพ่อแม่ที่มีบุตรหลานบกพร่องทางสติปัญญานั้น ความห่วงใยที่พ่อแม่ของเด็กเหล่านี้มีให้กับลูกยิ่งทบเท่าทวีคูณ

     หลายครอบครัวที่มีบุตรหลานบกพร่องทางสติปัญญา จึงมีความรู้สึกเหมือนต้องแบกโลกทั้งใบไว้บนบ่า กับหน้าที่ในการดูแลลูกที่ผิดปกติจากเด็กคนอื่นๆ เช่นเดียวกับ รองศาสตราจารย์ทิพวรรณ สีจันทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต หนึ่งในวิทยากรผู้ร่วมเสวนาเรื่อง "ครอบครัวที่มีบุคคลพิการทางสติปัญญา" จัดโดยเครือข่ายองค์กรทำงานและนักวิชาการด้านครอบครัว ภายใต้การสนับสนุน จากแผนงานสุขภาวะครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สารภาพให้ผู้ร่วมเสวนาได้ทราบว่า เธอคิดจะฆ่าตัวตายมาแล้ว เนื่องจากเป็นทุกข์อย่างแสนสาหัสในการดูแลบุตรสาวซึ่งมีความพิการทางสติปัญญา และยังมีความพิการด้านอื่นๆ ประกอบด้วย

     "เราเป็นห่วง เป็นกังวลกับลูกทุกอย่าง คิดว่าหากเราไม่มีชีวิตอยู่แล้วลูกจะอยู่อย่างไร ยิ่งห่วงเขาเราก็ยิ่งทุ่มเทให้เขามาก อยากเห็นเขาดีขึ้น ช่วยเหลือตัวเองได้ แต่เมื่อสิ่งที่เราอยากเห็นมันไม่เป็นไปตามที่เราคาด เราก็ยิ่งเป็นทุกข์ รู้สึกว่าเราไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว"      
     สิ่งที่อาจารย์ทิพวรรณ ทำคือการเปลี่ยนความคิด มองโลกในแง่บวก แม้จะเป็นเรื่องยากก็ตามที แต่เพราะความรักที่เธอมีให้กับลูก ทุกอย่างจึงผ่านพ้นไปด้วยดี ปัจจุบันเธอพร้อมยิ้มรับปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งคอยช่วยเหลือให้คำแนะนำกับครอบครัวอื่นๆ ที่มีปัญหาบุตรหลานพิการทางสติปัญญาด้วย
      
     "บางคนมีความคิดว่า ตั้งแต่ลูกคนนี้เกิดมาชีวิตไม่เคยมีความสุขเลย เพราะมีลูกปัญญาอ่อน ทั้งๆ ที่เขารักลูกมาก ทำให้เขาทุ่มเททั้งชีวิตไปที่ลูก จนลืมดูแลตนเอง พ่อแม่เครียดโดยไม่รู้ตัวและมีปัญหาสุขภาพจิต เมื่อเด็กอยู่ในสภาวะเกรี้ยวกราด กรีดร้อง พ่อแม่ก็ควบคุมตัวเองไม่ได้ ลงมือทุบตีลูก ทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก ดังนั้น การดูแลเด็กที่พิการทางสติปัญญาจึงต้องดูแลพ่อแม่ด้วย ไม่เช่นนั้นจะทำให้ครอบครัวอยู่ในภาวะวิกฤติ"
      
     สิ่งสำคัญที่อาจารย์ทิพวรรณ ย้ำเสมอคือการดูแลเด็กบกพร่องทางสติปัญญานั้น ต้องทำร่วมกันทั้งครอบครัว เพื่อที่จะได้ช่วยพัฒนาลูกไปพร้อมๆ กัน และครอบครัวที่มีเด็กบกพร่องทางสติอยู่ในบ้านนั้น ต้องทำใจยอมรับว่า ความสุขเต็มที่ของครอบครัวจะได้แค่ความสุขระดับปานกลางของคนทั่วไป จึงต้องเริ่มต้นจากการคิดว่าจะ "อยู่ให้ได้"ก่อน จากนั้นค่อยคิดว่าจะ "อยู่ให้ดี" โดยต้องมีความ "ยืดหยุ่น"ในการพัฒนาลูก แต่ต้องไม่ "หย่อนยาน" ส่วนวิธีการดูแลและการพัฒนาเด็กนั้น อาจปรึกษาแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ หรือรวมกลุ่มกับครอบครัวเด็กพิการอื่นๆ และพิจารณาตามความเหมาะสมว่าจะจัดการอย่างไรกับลูกของตนเอง เพราะเด็กแต่ละคนมีความพิการที่แตกต่างกัน ดังนั้น วิธีการดูแลจึงต้องแตกต่างกันด้วย

     ด้าน ครูเก๋ "รพีพรรณ ภูถาวร" จากโรงเรียนพญาไท ซึ่งต้องสอนและดูแลเด็กพิเศษ เล่าถึงสถานการณ์การศึกษาในปัจจุบันให้ฟังว่า บุคลากรด้านเด็กพิเศษของไทยในปัจจุบันนั้น ไม่สามารถรองรับเด็กพิการทางสมองได้อย่างเพียงพอ ทำให้โรงเรียนหลายแห่งที่รับเด็กพิเศษเข้าเรียน ต้องปฏิเสธที่จะรับเด็กไว้ เนื่องจากมีครูไม่เพียงพอ ซึ่งบางครั้งเหมือนคนใจดำ แต่ก็จำใจต้องปฏิเสธ เพราะหากรับไว้แล้วดูแลไม่ทั่วถึงก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร
      
     "การพัฒนาเด็กกลุ่มนี้ จะประสบความสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจาก 3 ฝ่าย คือ ครู นักเรียน และผู้ปกครอง โดยเฉพาะครูและผู้ปกครองต้องพูดคุยกัน รวมทั้งครูต้องทำหน้าที่ประสานให้พ่อแม่คนอื่นๆ ได้พูดคุยกันด้วย นอกจากจะเป็นการแลกเปลี่ยนวิธีการดูแลลูกระหว่างครอบครัวแล้ว ยังช่วยให้พ่อแม่ได้ลดความเครียด และเป็นการสร้างเครือข่ายในการดูแลเด็กทางหนึ่ง เพราะพ่อแม่ที่พาลูกมาเข้าโรงเรียน จะไม่ได้รู้สึกรักหรือดูแลเฉพาะลูกของตนเองเท่านั้น แต่ความรักความห่วงใยจะถูกแบ่งปันไปให้เด็กครอบครัวอื่น ผู้ปกครองจะช่วยเป็นหูเป็นตาแทนกันด้วย รวมทั้งภาครัฐควรพัฒนาบุคลากรสำหรับเด็กพิเศษเพิ่มขึ้นด้วย"      
     ขณะที่ "ศ.พญ.พรสวรรค์ วสันต์" สาขาวิชาเวชพันธุศาสตร์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ แพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ในอดีตนั้นแพทย์ในประเทศไทยขาดความเข้าใจเกี่ยวกับเด็กที่มีสติปัญญาพิการ ทำให้หลายกรณีที่แพทย์กลายเป็นผู้พูดจาทำร้ายและทำให้พ่อแม่หมดกำลังใจตนเองจึงได้เปิดอบรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเด็กที่มีสติปัญญาพิการขึ้น และเริ่มสัญจรออกไปให้ความรู้แก่ประชาชนในต่างจังหวัด
      
     "ในประเทศไทยนั้นไม่มีการสอนวิธีปฏิบัติให้พ่อแม่ดูแลลูกพิการทางสมอง ซึ่งภาครัฐให้การสนับสนุนและช่วยเหลือในเรื่องเหล่านี้น้อยมาก ทั้งที่ควรมีงบประมาณสนับสนุน และสร้างเครือข่ายในการช่วยเหลืกเด็กสติปัญญาพิการ ให้เขามีอาชีพเพื่อเพิ่มคุณค่าในตัวเอง รวมทั้งสร้างระบบคัดกรองเพื่อให้การพัฒนาเด็กกลุ่มนี้ ซึ่งคือการพัฒนาสังคมทางหนึ่ง เพราะหากเขาช่วยตัวเองได้ก็จะไม่เป็นภาระต่อสังคมในอนาคต และควรเริ่มต้นดูแลตั้งแต่แรกเกิด โดยให้เขามาจดทะเบียนเพื่อรับการพัฒนา เพราะหากค้นพบผู้พิการทางปัญญาภายหลังจากที่เขาเติบโตแล้ว การเปลี่ยนวิถีต่างๆ จะทำได้ยาก และจะพัฒนาเขาไม่ได้"
      
     ศ.พญ.พรสวรรค์ ให้ข้อมูลอีกว่า "ไม่เพียงแต่ประเทศไทยจะไม่มีระบบการดูแลเด็กพิการทางสมองที่ดี สังคมยังมองเด็กกลุ่มนี้ด้วยความไม่เข้าใจ ขบขัน รังเกียจ และคอยย้ำปมด้อย ขณะที่ในต่างประเทศจะค้นหาพรสวรรค์ที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวเด็กกลุ่มนี้ ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือจินตนาการสูง ดังนั้น เด็กบางคนสามารถวาดภาพได้สวย ออกแบบลวดลายต่างๆ ได้ดี เขาก็จะพัฒนาและส่งเสริมทำให้เด็กมีรายได้ ไม่เป็นภาระแก่ครอบครัว ดังนั้น รัฐบาลจึงควรมองเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขและวางระบบระดับชาติ"
      
     ยิ่งไปกว่านั้น ศ.พญ.พรสวรรค์กล่าวให้กำลังใจทิ้งท้ายว่า "ส่วนพ่อแม่นั้นก็ต้องคิดว่าตัวเองไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวในสังคม เพราะมีองค์กรและหน่วยงานภาคเอกชนหลายหน่วยงานที่ทำงานด้านนี้ พยายามเข้าหาข้อมูล หรือรวมกลุ่มกับพ่อแม่ครอบครัวอื่นด้วยกัน ซึ่งจะช่วยเหลือกันได้ดีมาก เพราะการแก้ปัญหาที่แต่ละครอบครัวใช้เป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริง บางครั้งได้ผลดีกว่าการปรึกษาแพทย์ และหากเราได้พูดคุยกับเพื่อนที่มีลูกพิการทางสมองเหมือนกัน ได้ปรึกษาแพทย์ มีทัศคติที่ถูกต้องว่าเด็กกลุ่มนี้สามารถพัฒนาได้จนผ่านช่วงนี้ไปได้ หลายครอบครัวจะพูดเลยว่าภูมิใจที่มีลูกคนนี้"