Custom Search

วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การจัดการศึกษาเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน



        เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน หมายถึง เด็กที่สูญเสียการได้ยินไม่สามารถรับฟังเสียงได้เหมือนเด็กปกติ ซึ่งอาจเป็นเด็กหูตึงหรือเด็กหูหนวกก็ได้ เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินมี 2 ประเภท คือ
1. เด็กหูตึง หมายถึง เด็กที่มีการได้ยินเหลืออยู่บ้าง สามารถได้ยินได้ไม่ว่าจะใส่เครื่องช่วยฟัง หรือไม่ก็ตามเด็กหูตึงจะมีระดับการได้ยินในหูที่ดีกว่าอยู่ระหว่าง 26 – 89 เดซิเบล ซึ่งคนปกติจะมีระดับการได้ยินอยู่ระหว่าง 0 – 25  เดซิเบล
2. เด็กหูหนวก หมายถึง เด็กที่สูญเสียการได้ยินในหูข้างที่ดีตั้งแต่ 90 เดซิเบลขึ้นไปไม่สามารถได้ยินเสียงพูดดัง อาจรับรู้เสียงบางเสียงได้จากการสั่นสะเทือน

การให้ความช่วยเหลือ
เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน มีปัญหาทางการได้ยิน จึงไม่สามารถได้รับประโยชน์จากการฟัง-การพูดได้อย่างเต็มที่ ต้องใช้การสื่อสารวิธีอื่นแทนการใช้ภาษาพูด วิธีการสื่อความหมายของเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินอาจแบ่งเป็น 6 วิธี คือ
1. การพูด เหมาะสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินไม่มากนัก
2. ภาษา เหมาะสำหรับเด็กที่สูญเสียการได้ยินมากหรือหูหนวกซึ่งไม่สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ด้วยการพูดจึงใช้ภาษามือแทน
3. การใช้ท่าทาง หมายถึง การใช้ท่าทางที่คิดขึ้นเองมักเป็นไปตามธรรมชาติโดยไม่ใช้ภาษามือและไม่ใช้น้ำเสียงแต่ใช้สายตาในการรับภาษา
4. การสะกดนิ้วมือ คือการที่บุคคลใช้นิ้วมือเป็นรูปต่างๆแทนตัวพยัญชนะ สระ วรรณยุต์ ตลอดจนสัญลักษณ์อื่นของภาษาประจำชาติเพื่อสื่อภาษา
5. การอ่านริมฝีปาก  เป็นวิธีการที่เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินรับภาษาพูดจากผู้อื่น ดังนั้น การอ่านริมฝีปากจึงเป็นสิ่งแรกที่เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน จะต้องเรียนรู้วิธีการอ่านตั้งแต่คำแรกที่เรียนภาษาและเป็นสิ่งแรกที่เด็กต้องใช้ตลอดชีวิต
6. การสื่อสารรวม คือการสื่อสารตั้งแต่สองวิธีขึ้นไป เพื่อให้ผู้ฟังเดาความหมายในการแสดงออกของผู้พูดได้ดียิ่งขึ้นนอกจากการพูด การใช้ภาษามือ การแสดงท่าทางประกอบแล้วก็อาจใช้วิธีอ่านริมฝีปาก การอ่าน การเขียนหรือวิธีอื่นก็ได้

การเรียนร่วมระหว่างเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินกับเด็กปกติ
        เมื่อมีเด็กมีความบกพร่องทางการได้ยินเข้ามาเรียนร่วมในชั้นเรียน ครูผู้สอนควรปฏิบัติดังนี้
1. ควรให้เด็กที่มีความบกพร่องนั่งในตำแหน่งที่สามารถมองเห็นและได้ยินผู้สอนได้ชัดเจน
2. ใช้ท่าทางประกอบคำพูดเพื่อให้เด็กเข้าใจคำพูดของครุแต่ไม่ควรแสดงท่าทางมาจนเกินไป
3. ครูควรเขียนกระดานมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่มีความสำคัญ เช่น นิยาม คำสั่ง หรือการบ้าน เป็นต้น
4. อย่าพูดขณะเขียนกระดานเพราะเด็กไม่สามารถอ่านปากของครูได้
5. เมื่อต้องการพูดคุยกับเด็กควรใช้วิธีเรียกชื่อ ไม่ควรใช้วิธีแตะสัมผัส เป็นการฝึกให้เด็กรู้จักฟัง
6. จัดทำแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP)
7. ก่อนลงมือสอนควรตรวจเช็คเครื่องช่วยฟังว่าทำงานหรือไม่
8. ให้โอกาสแก่เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินออกมารายงานหน้าชั้น ทั้งนี้เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสแสดงออกด้วยการพูด และขณะเดียวกัน ก็เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กปกติได้ฝึกฟังการพูดภาษาของเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน
9. หากเด็กปกติออกมาพูดหน้าชั้น ครูผู้สอนควรสรุปสิ่งที่เด็กปกติพูดให้เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินฟังด้วย

การประเมินผล
        การประเมินผลสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ในแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล ของนักเรียนแต่ละคนอย่างน้อยภาคเรียนละหนึ่งครั้ง วิธีจัดและประเมินผลก็ทำเช่นเดียวกันกับการจัดผลประเมินผลปกติ คือใช้แบบทดสอบ การสังเกตการสนทนา ให้ลงมือปฏิบัติตามคำสั่ง ทดสอบปากเปล่า ซึ่งจุดมุ่งหมายสำคัญเกี่ยวกับการวัดผลและประเมินผลจะกำหนดไว้ในแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล

ไม่มีความคิดเห็น: