Custom Search

วันพุธที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เขย่าลูก...อันตรายที่คาดไม่ถึง


     ... มีข่าวเด็กหญิงวัย 5 เดือน ถูกสองตายายทารุณกรรมโดยการเขย่าจนเลือดคั่งในสมองและอาจถึงขั้นตาบอด จากรายงานสองตายายชอบดื่มเหล้าจนเมาและจับหลานเขย่าแรงๆ เป็นประจำ จนเด็กมีอาการแสดงออกมาจึงพาไปพบแพทย์ อาการของเด็กที่ปรากฏนั้นแพทย์ลงความเห็นว่าเด็กเป็นโรค Shaken Baby Syndrome

     โรคนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร พ่อแม่หลายคนคงสงสัยว่าเพียงแค่เขย่าทำให้เด็กตาบอดเชียวหรือ รศ.พ.ญ.คุณหญิงส่าหรี จิตตินันท์ กรรมการอำนวยการมูลนิธิสงเคราะห์เด็ก สภากาชาดไทย และรองประธานมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก อธิบายถึงสาเหตุของโรคว่า Shaken Baby Syndrome หรือการเขย่าเด็กแรงๆ แล้วหยุดทันทีเป็นโรคที่มีมานานแล้ว แต่ไม่ค่อยมีคนรู้ จะเกิดขึ้นกับเด็กที่อยู่ในช่วงอายุ 1 ปีแรก โดยเฉพาะเด็กในช่วง 6 เดือนแรกมีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์นี้ได้ เพราะเป็นโรคที่เกิดจากการที่เด็กถูกเขย่าแรงๆ โดยไม่คำนึงว่าสมองของเด็กวัยนี้เปราะบางมาก และมีน้ำในสมองมากกว่าเนื้อสมอง

     เมื่อลูกร้องไห้ก็เขย่าลูกเพื่อให้ลูกหยุดร้อง แต่เมื่อลูกยังไม่หยุดร้องสักทีก็เขย่าแรงขึ้นๆ ถ้าพ่อแม่ยับยั้งอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ก็จะยิ่งเขย่าแรงขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ยังมีการกระทำกับเด็กที่รุนแรงจนเด็กได้รับอันตราย เช่น เตะ ไกวเปลแรงๆ โยนเด็กเล่น ซึ่งพ่อแม่เห็นเด็กชอบ หัวเราะ ชอบใจ แต่การกระทำเหล่านี้เสี่ยงมากที่จะเป็นอันตรายต่อเด็ก เพราะเพียงเขย่าเด็กไม่กี่วินาทีก็อาจทำให้เด็กพิการได้


     ส่วนใหญ่แล้วโรคนี้จะไม่แสดงอาการบาดเจ็บออกมาตามร่างกาย แต่จะเป็นความบอบช้ำภายในสมองมากกว่า ซึ่งส่งผลกระทบกับส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ตามข่าวนั้นเด็กมีอาการซึม เกร็ง และกระตุก นอกจากนั้นยังมีอาการเยื่อบุตาอักเสบ การแสดงอาการเหล่านี้เป็นเพราะความดันในสมองเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีเลือดออกมาจากหลอดเลือด ทำให้ไปกดสมองและเนื้อเยื่อในสมอง แต่ละอาการที่แสดงออกมานั้นขึ้นอยู่ว่าเลือดซึมเข้าไปในสมองส่วนไหน

      นอกจากอาการเหล่านี้แล้วยังมีอาการอื่นๆ ที่เป็นสัญญาณเสี่ยงที่เด็กจะอยู่ในภาวะ SBS (Shaken Baby Syndrome) คือ เด็กมีอาการอาเจียน หมดสติ หยุดหายใจเป็นพักๆ หรือชัก มีเลือดออกที่ตา บางรายที่มีอาการไม่รุนแรงนักอาจจะมาพบแพทย์ด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น ร้องไห้ไม่หยุด เซื่องซึม ไม่ยอมดื่มนม ซึ่งแพทย์อาจวินิจฉัยไม่ได้ และบอกว่าเด็กเป็นไข้ธรรมดา แต่บางรายที่ร้ายแรงเด็กอาจเสียชีวิตทันทีที่เขย่าเด็ก
     ส่วนผลกระทบในระยะยาวอาจส่งผลทางด้านสติปัญญาของเด็ก เด็กอาจตาบอด หูหนวก หรือพิการจนไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ หรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

     การป้องกันที่ดีที่สุดที่ไม่ให้เด็กเจอกับการกระทำที่รุนแรงเช่นนี้ คือพ่อแม่ควรเข้าใจธรรมชาติเด็ก เพราะเด็กไม่สามารถพูดหรือบอกออกมาได้ว่าต้องการอะไร ต้องหาสาเหตุในสิ่งที่เด็กต้องการ ไม่ใช่แค่การเอานมให้ลูกดื่ม เพราะการร้องนั้นอาจมาจากหลายสาเหตุ ไม่ใช่แค่การหิวนมเท่านั้น เด็กอาจจะปวดท้อง ไม่สบายก็ได้ ต้องเลี้ยงลูกโดยเข้าใจธรรมชาติของเด็กว่าเด็กนั้นต้องดูแลด้วยความเมตตา ไม่ควรมีอารมณ์โกรธหรือโมโห พ่อแม่ควรเข้าใจคำว่า "ครอบครัว" ให้มากขึ้นก่อนมีลูก เพราะการเตรียมพร้อมก่อนมีลูกจะทำให้พ่อแม่เข้าใจมากขึ้น เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันสร้างรากฐานของครอบครัวในสังคมให้เข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด เพราะถ้าแต่ละครอบครัวมีสิ่งเหล่านี้ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กอย่างนี้จะไม่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่การป้องกันที่ปลายเหตุอย่างกรณีที่เกิดขึ้น

     สำหรับกรณีที่เกิดขึ้น มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือเด็กตั้งแต่เบื้องต้น เด็กได้รับการช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับการฟื้นฟูเด็กจากกองทุนคุ้มครองเด็ก ตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 2546 ในกรณีนี้ฝ่ายผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเปิดช่องทางในการทำงานร่วมกันของทีมสหวิชาชีพให้มากขึ้น โดยทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก

     กรณีนี้คงเป็นอีกบทเรียนสำคัญให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ตระหนักและใส่ใจมากขึ้นเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูก การระงับหรือควบคุมอารมณ์โกรธ โมโหเป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรมีเป็นอย่างมาก เพื่อให้ลูกน้อยหลุดพ้นจากปัญหาความรุนแรง

ไม่มีความคิดเห็น: