Custom Search

วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การจัดการศึกษาเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายหรือการเคลื่อนไหว

          เด็กที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายหรือการเคลื่อนไหว หมายถึง เด็กที่มีความผิดปกติของแขน ขา หรือลำตัวรวมถึงศีรษะเป็นเด็กที่มีความผิดปกติบกพร่องหรือสูญเสียอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ดีเท่าคนปกติแต่ไม่ได้หมายถึงเด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นและเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินแม้ว่าดวงตาและระบบการได้ยินเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายก็ตาม เด็กที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายหรือเคลื่อนไหวสามารถสังเกตได้ดังนี้
          1.  ร่างกายเติบโตไม่ปกติ เช่น แขนหรือขาไม่เท่ากันทั้งสองข้าง ลำตัวเล็กผิดปกติอวัยวะผิดรูป เช่น เท้าติด เอวคด หลัง-ลำตัวโค้งงอผิดปกติ แขนขาด้วน
          2.  กล้ามเนื้อผิดปกติ เช่น แขน-ขา ลำตัวลีบ ไม่มีแรงอย่างคนปกติ
          3.  ไม่สามารถเคลื่อนไหวอวัยวะต่างๆ เช่น ไม่สามารถเคลื่อนลำตัว แขน-ขา มือหรือเท้าได้อย่างคนทั่วไป
          4.  ไม่สามารถนั่ง ยืนได้ด้วยตนเอง
          5.  ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ เช่น ไม่สามารถรับประทานอาหาร อาบน้ำ ถอด-ใส่ เสื้อผ้าได้ด้วยตนเอง

การให้ความช่วยเหลือ
          เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหวอาจมีความบกพร่องหลายอย่างในบุคคลเดียว การฟื้นฟูสมรรถภาพความพิการจึงจำเป็นต้องมีหลายด้านตามสภาพความบกพร่องของเด็กแต่ละบุคคลซึ่งการบำบัดฟื้นฟูต่าง ๆได้แก่
                    กายภาพบำบัด  เป็นการฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายตั้งแต่แรกเริ่มในด้านต่างๆ เช่น การทรงตัว การนั่ง หรือการยืนทรงตัวเพื่อกระตุ้นให้เด็กได้เคลื่อนไหวอวัยวะต่างๆในลักษณะที่ถูกต้อง เป็นพื้นฐานในการเคลื่อนไหวที่ถูกต้องต่อไป
                    กิจกรรมบำบัด  เป็นการฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายเพื่อเน้นให้เด็กช่วยเหลือตนเองได้มากที่สุด สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีและเร็วที่สุด สามารถอยู่อย่างปกติสุขเช่นคนทั่วไปโดยเน้นทักษะกล้ามเนื้อย่อย เช่น การรับประทานหาร การทำความสะอาดร่างกาย การแต่งตัวเป็นต้น
                    อรรถบำบัดหรือการแก้ไขคำพูด  ในส่วนที่เด็กมีความบกพร่องทางการพูดจะต้องฝึกการควบคุมน้ำลาย การกลืน การเคี้ยวอาหาร ฝึกโดยใช้อุปกรณ์ประเภทเครื่องเล่นที่เกี่ยวกับการออกเสียง เครื่องดนตรีชนิดเป่า การเป่ากระดาษ หรืออุปกรณ์ชนิดอื่นๆให้เด็กได้รู้ว่าคนเราพูดเมื่อเวลาหายใจออกเท่านั้น
                    ศิลปะบำบัดและดนตรีบำบัด  เป็นกิจกรรมเสริมเพื่อพัฒนาเด็กที่มีความแตกต่างกันในด้านต่างๆให้มีการพัฒนาอย่างเหมาะสมตามศักยภาพโดยคำนึงถึงความสนุกสนาน ความต้องการธรรมชาติรวมถึงความจำเป็นของเด็กเป็นรายบุคคล

การเรียนร่วมระหว่างเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายกับเด็กปกติ
          การเรียนร่วมระหว่างเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายหรือการเคลื่อนไหวได้แบ่งระดับของกิจกรรมการเรียนไว้ 3 ระดับคือ
1.  ระดับก่อนวัยเรียน  จุดมุ่งหมายสำคัญของการให้การศึกษาแก่เด็กที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายคือ การเตรียมความพร้อมของเด็กเพื่อการเรียนร่วม เด็กที่ได้รับการเตรียมความพร้อมแล้วเท่านั้นจึงจะประสบความสำเร็จในการเรียนร่วมกับเด็กปกติ ความพร้อมที่ควรจะได้รับการเตรียมในระดับนี้ได้แก่ ความพร้อมในการเคลื่อนไหว การช่วยเหลือตนเอง ทักษะทางสังคมและพัฒนาการทางภาษาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว เด็กที่มีคงวามบกพร่องทางด้านร่างกายควรได้รับบริการทางด้านการบำบัดควบคู่กันไป การบำบัดที่จำเป็นได้แก่กายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัดและการบำบัดทางภาษา
2.  ระดับประถมศึกษา เด็กอาจเริ่มเรียนรวมกับเด็กปกติในลักษณะของการเรียนร่วมเต็มเวลาได้โดยไม่ต้องการการบริการพิเศษเพิ่มเต็ม เช่น เด็กที่ใช้แขนหรือขาเทียม ซึ่งสามารถใช้หรือขาเทียมได้ดี ระดับสติปัญญาปกติและไม่มีความพิการด้านอื่นเด็กประเภทนี้สามารถเรียนร่วมเต็มเวลาได้ เด็กที่มีความสามารถบกพร่องทางร่างกายอื่นก็สามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติได้ หากเด็กได้รับการเตรียมความพร้อมแล้วและทางโรงเรียนจัดบริการเพิ่มเติมให้กับเด็กการพิจารณาจัดเด็กเข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติพิจารณาเด็กเป็นรายบุคคล
3.  ระดับมัธยมศึกษา การศึกษาในระดับมัธยมศึกษาเน้นด้านวิชาการและพื้นฐานด้านการงานและอาชีพหากเด็กมีความพร้อมควรให้เด็กมีโอกาสเรียนร่วมเต็มเวลาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เด็กที่จะเรียนร่วมได้ดีควรเป็นเด็กที่สามารถช่วยตัวเองได้ในด้านการเคลื่อนไหวและการประกอบกิจวัตรประจำวันมีคงวามสามารถในการสื่อสารกับผู้อื่นและมีพื้นฐานอาชีพใกล้เคียงกับเด็กปกติ อย่างไรก็ตามเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายอาจยังต้องการบริการพิเศษ เช่น การบำบัดทางกายภาพ กิจกรรมบำบัด การแก้ไขคำพูดเบื้องต้น การพิจารณาส่งเด็กเข้าเรียนร่วมจะต้องพิจารณาความสามารถและความพร้อมของเด็กเป็นรายๆไป ทั้งนี้เพราะเด็กแต่ละคนมีความสามารถและระดับความพร้อมแตกต่างกัน

การประเมินผล
          การประเมินผล ควรดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนและตามเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ในแผนการศึกษาเฉพราะบุคคล มีการประเมินผลระยะสั้นทุกภาคเรียน และมีการประเมินผลระยะยาวอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
          การประเมินผลต้องมีผลสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายที่วางไว้ในแผนการศึกษา มีกานเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเด็กให้มากที่สุด เพื่อให้การประเมินผลมีประสิทธิภาพ และข้อมุลยังจำเป็นสำหรับการวางแผนระยะยาวอีกด้วย


ไม่มีความคิดเห็น: