Custom Search

วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2554

โรคเอ๋อ (ภาวะขาด ธัยรอยด์ฮอร์โมน) ในเด็ก

          คุณพ่อ คุณแม่หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องโรคเอ๋อกันจากรายการวิทยุ หรืออ่านจากข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ แต่คงจะไม่รู้จักในรายละเอียดกันว่า โรคเอ๋อจริงๆนั้นเป็นอย่างไร และลูกของเรานั้นเป็นโรคเอ๋อหรือไม่ จะมีวิธีการตรวจได้อย่างไร หรือถ้าเป็นแล้วจะรักษาได้ไหม

          โรคเอ๋อ นั้นเป็นที่เรียกกันให้เข้าใจง่าย เพราะเป็นภาษาชาวบ้านที่ใช้ เรียก เด็กที่มีภาวะปัญญาอ่อน ที่พบบ่อยตามหมู่บ้านบางแห่ง ในภาคเหนือ และ ภาคอีสานของไทย ซึ่งเมื่อเข้าไปศึกษาดู สาเหตุของภาวะปัญญาอ่อน ในเด็กเหล่านี้แล้วก็พบว่า เกิดจากการขาด ธัยรอยด์ฮอร์โมน

          ธัยรอยด์ฮอร์โมนนั้น คือ ฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมธัยรอยด์ ซึ่งก็คือต่อมที่อยู่ตรงบริเวณคอ ตรงที่เรียกกันว่า ลูกกระเดือก หรือ คอหอย ในคอของทุกคนนั่นเอง ต่อมธัยรอยด์นี้จะสร้างฮอร์โมน ที่มีความสำคัญมาก เพราะจะมีผลทำให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายรวมทั้ง สมอง มีการเจริญเติบโต โดยการทำงานร่วมกับ ฮอร์โมนอื่นๆ ในร่างกาย ทำให้มีการเจริญเติบโต ของกระดูก และ ฟัน การควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ฯลฯ

          ดังนั้นการขาดธัยรอยด์ฮอร์โมน จึงมีผลทำให้ผู้นั้นเกิดความเฉื่อยชา รู้สึกหนาวง่าย และจะไม่ค่อย เจริญเติบโตสมวัย ไปถึงขั้นมีความเสื่อมของสติปัญญา ได้

          ปัญหาโรคเอ๋อในเด็กนั้น จะเกิดได้ ใน 2 ลักษณะ คือ
          แบบแรก  ทารกเกิดมา โดยมีการผิดปกติของการสร้าง ธัยรอยด์ฮอร์โมน ตั้งแต่กำเนิด ซึ่งอาจเป็นจากที่เกิดมา โดยไม่มีต่อมธัยรอยด์นี้มาด้วย หรือ ถ้ามีก็อยู่ผิดที่ และไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ แต่ทารกที่คลอดออกมานั้น จะดูไม่ออกว่ามีปัญหานี้ เนื่องจากตอนที่ทารกอยู่ในครรภ์นั้นทารกจะ ได้รับธัยรอยด์ฮอร์โมน จากแม่มาช่วยในการเจริญเติบโต ระหว่างอยู่ในครรภ์ แต่ต่อมา ไม่นาน (เพียงไม่กี่สัปดาห์) ก็จะมีภาวะขาดธัยรอยด์ฮอร์โมน ทำให้ทารกมีลักษณะเซื่องซึม, เอาแต่นอน, ทานนมไม่เก่ง, ท้องผูก, ท้องอืด, สะดือจุ่น, มีภาวะตัวเหลืองหลังคลอด นานกว่าปกติ , ไม่ค่อยร้องกวน (ทำให้คุณพ่อ คุณแม่ บางคนคิดว่า ลูกเป็นเด็กเลี้ยงง่าย) ร้องเสียงแหบ ดูลิ้นใหญ่ จุกปาก, ผิวแห้งเย็น, เติบโตช้า , มีการพัฒนาการช้ากว่าเกณฑ์อายุในทุก ๆ ด้าน เช่น เด็กอายุ 3 เดือน ควรจะ ชันคอได้ดีแล้ว แต่เด็กที่มีปัญหาโรคเอ๋อจะยังคอไม่แข็ง ไม่สามารถยกศีรษะให้ตั้งอยู่ได้นาน

          ในประเทศไทยเรานั้นยังพบว่า มีสาเหตุพิเศษ อีกอย่างหนึ่ง คือ การที่คุณแม่มีปัญหาขาด ธัยรอยด์ฮอร์โมน หรือ ขาดไอโอดีน ในระหว่างการตั้งครรภ์ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ที่ขาดสารไอโอดีน ในอาหาร และ น้ำดื่ม เช่น บางอำเภอทางภาคเหนือ หรือ บนภูเขาที่ทุรกันดาร และ บางจังหวัดทางภาคอีสาน ทำให้พบว่า เด็กในบางหมู่บ้าน เป็นโรคเอ๋อกันมาก

          แบบที่สอง  คือ ภาวะการขาด ธัยรอยด์ฮอร์โมนที่มาเป็นภายหลัง เช่น มีการติดเชื้อของต่อมธัยรอยด์ หรือ ได้รับยาบางชนิดที่รบกวน การทำงานของต่อมธัยรอยด์ ทำให้มีการสร้างธัยรอยด์ฮอร์โมนน้อยลง จนทำให้เกิดอาการเอ๋อได้ เด็กที่เกิดมาจะดูเป็นปกติ และ ในช่วงแรกก็มี การเจริญเติบโต และ พัฒนาการได้สมวัย แต่เมื่อเริ่มมีการขาดธัยรอยด์ฮอร์โมน ก็จะมีอัตราการเจริญเติบโต ค่อยๆช้าลง และเริ่มมีอาการ ของการขาดธัยรอยด์ฮอร์โมน ให้เห็นชัดเจนขึ้น เด็กจะมี ตัวเตี้ย เฉื่อยชา และ มีอายุกระดูกช้า (จากการตรวจดูอายุกระดูก โดยการเอกซ์เรย์ )

          ซึ่งถ้าพบว่า ทารกรายใดมีผลเลือดผิดปกติ ก็จะได้มีการติดตามทารกรายนั้นมา ทำการตรวจเลือดเพิ่มเติม เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และเริ่มการรักษาด้วย ธัยรอยด์ฮอร์โมน ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่ทารกจะมีอาการของโรคเอ๋อ และ สามารถป้องกันการเกิดภาวะปัญญาอ่อนได้ ทำให้ทารกนั้นมีการเจริญเติบโต และ พัฒนาการได้อย่างปกติ

ไม่มีความคิดเห็น: